รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมย้ำประเทศเข้มแข็งต้องมาจากฐานราก สวัสดิการชุมชนคือคำตอบแก้จนและลดเหลื่อมล้ำ สร้างพลังประเทศให้เข้มแข็ง

มหาสารคาม / เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ กระทรวง พม. พอช. และจังหวัดมหาสารคาม จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” ที่จังหวัดมหาสารคาม รัฐมนตรีกลาโหมร่วมเปิดงาน ย้ำสวัสดิการชุมชนคือคำตอบแก้จนและลดเหลื่อมล้ำ สร้างพลังประเทศให้เข้มแข็ง และประกาศและมอบข้อเสนอ  ทิศทางการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

วันที่ 7 มิถุนายน 2567 จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร  โดยมีผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ผู้แทนกองทุนที่ได้รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้แทนหน่วยงานภาคี ผู้แทนภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชน เข้าร่วมงานสมัชชาฯ กว่า 500 คน ณ ห้องประชุมบอลลูม โรงแรมตักสิลา อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก ดร.สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกลาโหม เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ ย้ำสวัสดิการชุมชนคือคำตอบแก้จนและลดเหลื่อมล้ำ สร้างพลังประเทศให้เข้มแข็ง

นางสาวปราณี วงศ์บุตร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือสะดืออีสาน เป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาแห่งหนึ่งของภูมิภาค เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากหมาย จึงได้ชื่อว่า “ตักสิลาแห่งอีสาน” แบ่งการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด “เกษตรกรรมยั่งยืน นำภูมิปัญญาสร้างคุณค่า พัฒนาการค้า การลงทุน สู่สังคมมีสุข ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี” จังหวัดมหาสารคาม ก็ไม่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมมีสุข คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ฉะนั้น สวัสดิการชุมชน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่จังหวัดให้ความสำคัญ และมอบหมายให้ทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดร่วมดำเนินการกับพี่น้องประชาชนที่รวมกลุ่มองค์กรในการดำเนินการดังกล่าว

“การจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้คนมหาสารคามได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่าย และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เพื่อนำมาปรับและยกระดับการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนให้มีประสิทธิภาพต่อไป”

ดร.สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกลาโหม กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ซึ่งเห็นว่าเครือข่ายสวัสดิการชุมชนเป็นขบวนองค์กรชุมชนที่สร้างพลังทางสังคม สร้างให้คนมีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง ท่านได้เห็นถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “ป่าสร้างชุมชน ชุมชนสร้างเมือง เมืองสร้างประเทศ” คือประเทศจะอยู่ได้หรือมั่นคงนั้น เกิดจากฐานรากมากกว่าเกิดจากข้างบน ชุมชนเป็นฐานหลักอย่างแท้จริงในการสร้างและพัฒนาประเทศ ซึ่งมองว่ากระทรวงกลาโหมนั้นมีภารกิจตรงจุดที่มาในวันนี้มาก เพราะทหารทำเรื่องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งไม่ได้มองแค่เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์เท่านั้น แต่มองถึงเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ มองถึงความมั่นคงภายใน หากพลังของชาติและสังคมไร้พลัง ประเทศก็ไปไม่ได้ การสร้างความมั่นคงของประเทศ ต้องมองถึงความเข้มแข็งของชุมชนถึงจะอยู่ได้ กระทรวงกลาโหมเองพร้อมที่จะจับมือทำไปด้วยกันกับพี่น้องประชาชน วันนี้ต้องขอชื่นชมชุมชนที่ริเริ่มงานพัฒนาในการพึ่งพาตนเอง

“วันนี้เมืองทำลายชุมชน ชุมชนทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติผุพัง ตัวการสำคัญคือความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความยากจน นำมาสู่ความแตกแยก ความเหลื่อมล้ำมีทุกประเทศในโลก ทางออกที่เห็นตรงกันคือ สิ่งที่จะให้คนตัวเล็กอยู่ได้ สู้รบปรบมือกับอำนาจทุนใหญ่ได้คือการส่งเสริมสวัสดิการชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการชุมชนมีหลายด้าน และเครือข่ายสวัสดิการชุมชนได้ทำดีแล้ว ขอชื่นชมหลายๆ กองทุนที่แข็งแกร่ง และให้กำลังใจสำหรับกองทุนที่กำลังเริ่มใหม่ สวัสดิการชุมชนที่จัดขึ้นในวันนี้ คนที่อ่อนแอก็จะได้ดูแบบอย่างจากกองทุนที่เข้มแข็ง เพราะภาครัฐ หรือหน่วยใดหน่วยหนึ่งทำเพียงลำพังไม่ได้ ซึ่งต้องทำร่วมกัน”

            นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การสวัสดิการชุมชน 3 ขา สิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เพราะแต่ละชุมชนมีส่วนทำให้เกิดความเข้มแข็ง ส่วนรัฐบาลโดย พอช. จะมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของพี่น้องชุมชน ในวันนี้ต้องขอบคุณ พมจ.ทั้ง 20 จังหวัด ที่มาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานสวัสดิการชุมชนของพี่น้องภาคตะวันออกเฉียง สำหรับการขับเคลื่อนงานของกระทรวง พม. ได้กำหนด “นโยบาย 5x5  ฝ่าวิกฤตประชากร” เป็น 5 เสาหลักใหญ่ขับเคลื่อนงาน โดยภายใต้ 5 เสาหลัก มีมาตการย่อยในการดำเนินงาน ได้แก่ 1.  การพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill/Upskill) เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมการมีงานทำและรายได้  2. การดูแลเรื่องของเด็กและเยาวชน ส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้เข้มแข็ง 3. การให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงศักยภาพการทำงานมากขึ้นและต่อเนื่อง 4. การสนับสนุนและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการตามศักยภาพและเพิ่มการจ้างงานคนพิการในทุกภาคส่วน และ 5. เรื่องระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม  สำหรับคนรุ่นต่อไป ซึ่งถือเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนงานให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป

            นายวิรัตน์ สุขกุล ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนยังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นองค์กรทางสังคมที่มีความกว้างขวางและหลากหลายทั้งด้านการเข้าเป็นสมาชิก การมีสวัสดิการที่หลากหลายมิติ ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต มีระบบการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อร่วมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญให้พี่น้องประชาชนได้พึ่งพาตนเอง และพึ่งพาภาครัฐให้น้อยที่สุด

ตลอดระยะเวลา 19 ปี สามารถจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนได้ประมาณ 6,000 กองทุน มีสมาชิกประมาณ 6,700,000 คน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 2,256 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 95.39 ของพื้นที่ สมาชิก 2,233,506 คน ทั้งหมดได้ช่วยเหลือสมาชิกและผู้เปราะบางทางสังคมได้มากกว่า 7,500,000 คน โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนมีบทบาทในการเป็น “ผู้ช่วยเหลือในเบื้องต้น” เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชน จึงสามารถปรับแผนงานและจัดสรรงบประมาณได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การจัดงานครั้งนี้เพื่อสร้างความรับรู้งานสวัสดิการชุมชนสู่การประสานงานในระดับนโยบาย   สร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและอื่นๆ และสร้างพลังและความมุ่งมั่นของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนสู่การยกระดับเป็นองค์กรทางสังคม ขอให้สนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ”

การสร้างพลังทางสังคมและหุ้นส่วนการพัฒนาระบบสวัสดิการของชุมชน เพื่อแก้วิกฤตประชากรไทย

นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ เลขานุการเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค เล่าว่า ภาคอีสาน มีกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มากที่สุดของประเทศไทย ระบบสวัสดิการชุมชนเข้มแข็งจะทำให้ระบบสวัสดิการสังคมของประเทศไทยนั้นไปได้ไกล กองทุนสวัสดิการชุมชนมีบทเรียนพวกเราไม่ใช่กองทุนที่เป็นองค์กรการเงิน เราคือกองทุนที่ร่วมกันสร้างขึ้นมายาวนานต่อเนื่องกว่า 19 ปี มีการรวมตัวสร้างพลังสังคม ไม่ได้รวมตัวกันขับเคลื่อนกิจกรรมเท่านั้น ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพึ่งพาตนเองของภาคประชาชน 1 บาทเราดูแลกันและกัน รวมถึงการรวมกลุ่มรวมคนมาทำงานพัฒนา รื้อฟื้นสร้างสังคมร่วมกัน ดังนั้นการสร้างพลังทางสังคมของสวัสดิการชุมชนเราใช้คนเป็นหลัก ทำให้เงิน 1 บาทให้เรามาเจอกัน ที่ผ่านมาสวัสดิการของรัฐไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ทำให้คนห่างกัน เพราะต่างคนต่างรับ ส่วนสวัสดิการชุมชนนั้นเป็นเครื่องมือให้คนมาเจอกัน “เงินไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือ” นอกจากนั้นเรามีการจัดสวัสดิการชุมชนแบบองค์รวม ช่วยเหลือกันตั้งแต่ เด็ก คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ ทุกช่วงวัย ทุกชนชั้น ทำให้คนเหล่านั้นได้เรียนรู้ร่วมกัน และเชื่อมโยงในการดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อาหาร รักษาสิทธิร่วมกัน

“การลดความเหลื่อมล้ำ คือ ให้คนเข้าถึงกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มากที่สุด ลดรายจ่าย ทุกคนเข้าถึงสิทธิการช่วยเหลือ มีงบประมาณในชุมชนที่สามารถช่วยเหลือกันได้เลยแม้ในยามวิกฤตเร่งด่วน มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพราะทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ มีการตรวจสอบร่วมกัน”

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า หลักการจัดสวัสดิการนั้นมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของชุมชน ปรับตามวิถีความเป็นอยู่ ให้สามารถเข้าถึงสมาชิกทุกคน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ส่วนการจัดสวัสดิการชุมชนนั้น  ได้รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ สังคม การศึกษา สุขภาวะ ภัยพิบัติ ให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายของสมาชิก ขอยกตัวอย่าง การจัดสวัสดิการที่เดนมาร์กที่มีการจัดสวัสดิการแบบรัฐสวัสดิการโดยท้องถิ่นมีส่วนร่วมสำคัญ และมีชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นต่าง ๆ เชื่อมโยงกันกับท้องที่ ท้องถิ่น มีการจัดสวัสดิการในรูปแบบต่าง ๆ และมีการบริหารจัดการทั้งด้านระบบการเงิน และระบบอื่น ๆ ร่วมกัน มีกฎหมายและมาตรการที่เอื้ออำนวยในการจัดสวัสดิการ สำหรับประเทศไทยงบประมาณของท้องถิ่นอาจจะยังไม่สามารถที่มาสนับสนุนได้อย่างเต็มที่มากนัก เพราะยังมีกฎระเบียบที่มีข้อจำกัดอยู่บ้าง

“ในข้อเท็จจริงเป้าหมายขององค์กรส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนมีความต้องการให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชกินดีอยู่ดี และยังมีการขับเคลื่อนงานร่วมกันอยู่แล้ว ของกลไกต่างๆ ทั้งรัฐ ท้องถิ่น สถาบันทางสังคม วัด โรงเรียน ศูนย์สุขภาพ ฯลฯ และยังมีบทเรียนตัวอย่างของชุมชนที่เข้มแข็งเห็นอยู่ในพื้นที่อยู่อย่างมากมาย สวัสดิการชุมชนยังไม่ได้เติบโตมากนัก และยังไม่ครอบคลุมคนในตำบล  การสมทบโดยรัฐบาลจึงยังไม่มีได้มาก ซึ่งมองว่าการดูแลคนทุกกลุ่มครอบคลุมให้ได้ ทั้ง เด็ก เยาวชน คนทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ เราอาจจะเริ่มจากกองทุนวันละบาท ทำตั้งแต่เกิดจนตาย เราจะต้องคิดว่าระบบสวัสดิการชุมชนเป็นระบบพื้นฐานของคนในท้องถิ่น และใช้ข้อมูลร่วมกันในการขับเคลื่อนสวัสดิการ ต้องใช้ชุมชนเป็นหลัก หน่วยงานหนุนเสริม จึงจะทำให้ชึมชนเกิดความเข้มแข็งได้”

นายนิรันดร  คำนุ หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สวัสดิการชุมชนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการทำงานวิจัยเพื่องานพัฒนา ซึ่งพยายามให้ผู้นำในพื้นที่คิดค้นหาคำตอบคลี่คลายปัญหา พอช. ร่วมกับ สกว. มีการทำความร่วมมือ เพื่อศึกษาบริบทที่เปลี่ยนแปลง พอช. เสนอกรณีศึกษาสวัสดิการชุมชนเด่นในพื้นที่ เช่น ต.นาโค กุฉินาราย จ.กาฬสินธุ์  ที่ชุมชนเป็นเจ้าของ และชุมชนเองมีการระดมทุนรวมถึงการจัดสวัสดิการในหลายด้าน เพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาส เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา เป็นเจ้าของงานพัฒนา และยังพบอีกว่า ในหลายพื้นที่ ได้มีการขับเคลื่อนด้วยความรู้  ดูแลกันและกัน  และมองว่าสถาบันการศึกษาต้องมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานสวัสดิการชุมชน และสภาองค์กรชุมชนต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับนักศึกษาด้วยเช่นกัน

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา  ที่ปรึกษากรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระบุว่า ปี 2519 อ.ป๋วย มองว่าการจัดสวัสดิการที่ดีตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน มีการจัดสวัสดิการให้เท่าเทียมกันในพื้นที่ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ต้องยอมรับว่าคนเปราะบางด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง จากการสำรวจของสภาพัฒน์ ตั้งแต่ปี 2523 ข้อมูลก็ยังมีการสำรวจคนเปราะบางตกหล่น คนที่ตกหล่นนั้นคือคนในชุมชนที่จะรู้ว่าใครเดือดร้อน จึงทำให้เกิดกลไกใหม่ที่หลากหลายขึ้น มีบทเรียนหลายกองทุน เป็นเงินของชุมชนที่ทุกคนร่วมกันคิดและออกแบบ และเป็นกลไกในการหลอมรวมการทำงานของทุกฝ่าย ทั้งส่วนราชการเอกชนและประชาชน   ทั้งเรื่องระบบงบประมาณ ซึ่งมีกลไก คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ(กบจ.) ในขณะที่รูปแบบและวิธีการจัดกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ชาวบ้านดำเนินการและบริหารจัดการเอง เช่น การจัดสวัสดิการควายออกลูก มีการต่อยอดนอกจากจะจัดสวัสดิการให้กับคนที่เลี้ยงควาย การเลี้ยงควายนั้นก็สามารถต่อยอดไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่น การอนุรักษ์ควายควายออกลูกก็ได้สวัสดิการ ขี้ควายที่ได้ก็นำไปสู่การทำปุ๋ยการปลูกผักอินทรีย์ รวมถึงการอนุรักษ์ป่าชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกบูรณาการเกื้อหนุนช่วยเหลือกันตั้งแต่ครอบครัว และชุมชน รัฐต้องมองถึงมิติการสนับสนุนงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชน  จาการสมทบของชุมชนคิดเป็นร้อยละ65  ซึ่งรัฐต้องมองถึงการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาให้มากขึ้น

“เครือข่ายสวัสดิการจะต้องคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการจัดสวัสดิการ มองถึงปัญหาตัวเองให้ออกแล้วนำมาสู่การจัดสวัสดิการของคนในชุมชน เกิดแก่เจ็บตายนั้นอาจจะต้องมองถึงมิติอื่นให้มากขึ้น เพราะรัฐบาลก็มีระบบดูแลขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว และมองถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานหรือกองทุนอื่นๆ เปลี่ยนจากสวัสดิการเชิงรับเป็นสวัสดการเชิงรุกมากขึ้น ประการแรก คิดกิจกรรมหรือแผนการพัฒนาเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาโลกรวน ทำอย่างไรจะให้เกิดการป้องกัน หลายแห่งทำเรื่องป่าชุมชน การจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาความยากจน การคิดค้นระบบช่วยเหลือคนในชุมชนเพื่อรักษาดิน น้ำ ป่า และอนุกรักษ์ สร้างพื้นที่สีเขียว ลดโลกร้อน วิกฤตประชากรสังคมผู้สูงอายุ ประการที่2 แก้ไขปัญหาจากต้นทาง อย่าหนีปัญหา เช่น ปัญหาหนี้สินสมาชิก ต้องมีระบบการแก้ไข ให้คำปรึกษา ใครเก่งเรื่องการเงินก็ให้มีวงปรึกษาหารือกัน การดูแลเด็กที่จะเป็นการดูแลให้เด็กเป็นคนดี ประการที่3 การเปิดพื้นที่ในการสร้างภาคีให้มากขึ้น จะทำให้เกิดการขยายงานกันได้เยอะขึ้น ประการสุดท้าย การหนุนเสริมของภาควิชาการในพื้นที่ อาจจะมีการสำรวจและใช้ข้อมูลเพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด”

            นายณัฐชา  บุญไชยอินสวัสดิ์  ประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการเป็นหน่วยที่สร้างความเข้มแข็ง ที่บอกถึงความต้องการของชุมชน มีระบบการสมทบร่วมกัน มีการช่วยเหลือกัน หากจะสร้างความเข้มแข็งต้องร่วมกันและช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายปัญหา เมื่อชุมชนเข้มแข็งภาครัฐก็มาสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันทั่วประเทศ ทำอย่างหลากหลาย การผนึกพลังและการผลักดันหุ้นส่วนการพัฒนา เป็นสิ่งสำคัญ มีการลงขันเป็นพลังที่เติมกัน จะทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าที่มากขึ้น มีรูปธรรมความเข้มแข็งสำเร็จให้ภาครัฐและส่วนอื่นๆ ได้เห็น พร้อมให้การสนับสนุน

“วันนี้เราสมทบด้วยกำลังของพี่น้องประชาชน และสามารถดูแลคนในชุมชนได้รอบด้านหรือยัง หากยังไม่ครบก็ให้เกิดการสมทบจากภาครัฐให้ครอบคลุมให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาครัฐเองมีการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน  แต่ประชาชนบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการช่วยเหลือ  และมองว่ากองทุนสวัสดิการเป็นกลไกสำคัญในการรวมตัวและช่วยเหลือกัน และทำอย่างไรให้การรวมกลุ่มกันนั้นเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐมากขึ้น ที่ผ่านมามีการผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการสังคมในหลายด้าน เช่น เบี้ยผู้สูงอายุที่ให้มีการสมทบมากขึ้น ฯลฯ ในสภาผู้แทนราษฎรเอง มีการนำเสนอและผลักดันเรื่องยากลำบากให้เกิดการช่วยเหลือภาคประชาชนให้มากขึ้น”

บทเรียนหลากหลายมิติของสวัสดิการชุมชน

นายสง่า พันทอง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโสน จ.ศรีสะเกษ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สู่การสร้างหลักประกันทางสังคมของชุมชน : สวัสดิการชุมชนตำบลโสน ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นกองทุน 3 ขา ได้รับการสมทบจาก อบต. ทุกปี โดยเฉพาะปี 2565 ในช่วงโควิด ได้รับการสนับสนุน 5 แสนบาท มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกที่ป่วยจากโควิด หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนมาโดยตลอด นอกจากจัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายแล้วนั้น มีการทำสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย สภาองค์กรชุมชน สาธารณสุข พัฒนาชุมชน อบต. ดูแลผู้ติดสารเสพติดในพื้นที่ มีการประสานงานกันในพื้นที่ และได้รับการสนับสนุนจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เราขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล พบว่าข้อมูลและผลกระทบที่ได้รับจากผู้ใช้สารเสพติด เช่น พ่อแม่ก็ไม่สามารถอยู่ร่วมกันในชายคาเดียวกันได้ จึงประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบำบัดดูแลด้านสารเสพติด มีการจัดเวทีประชุมร่วมกัน และหาแนวทางช่วยกัน ได้รับการเยียวยาดูแล นำผู้ติดสารเสพติดสู่การดูแลรักษา

บทบาทของกองทุนสวัสดิการมีการประสานงานร่วมกับกลไกหรือผู้นำในแต่ละหมู่บ้าน นอกจากเรื่องสุขภาพอนามัยมีการจัดสวัสดิการดูแลช่วยเหลือครอบครัวเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กเยาวชน ที่อยู่ในครอบครัวยากจน มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ได้ช่วยในเรื่องบ้านพอเพียง ประสานกับ พอช. และ พมจ. บ้านพักเด็ก โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งเรามีการตั้งคณะทำงาน และหาแนวทางในการสำรวจ ตรวจสอบ แล้วมาประชุมร่วมเพื่อวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือ จึงได้ข้อมูลปัญหาของตำบลทั้งหมด ทั้งกลุ่มเปราะบาง และด้านต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงการศึกษา มีการส่งเสริมและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ทำให้พ่อแม่มีหนี้ลดลง การทำสวัสดิการด้านอาชีพให้แม่และบุตร ที่มีการทำมาอย่างต่อเนื่อง กองทุนมีศูนย์ OTOP ให้คุณแม่ที่คลอดบุตรแล้วไม่สามารถไปทำงานในระบบปกติ ส่งเสริมให้คุณแม่ทำเหรียญโปรยทาน เครื่องจักรสาน สามารถทำงานที่บ้านได้ ใช้แรงงานน้อย ใครทำเสร็จก็นำผลิตภัณฑ์มาวางที่ศูนย์ OTOP ของตำบล ด้านผู้สูงอายุ สภาองค์กรชุมชนมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือค่าครองชีพ

“ที่โสนมีการจัดสวัสดิการ 13 ประเภท มีกิจกรรมขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นชัดเจนคือ ในทุกปีจะมีพี่น้องประชาชนในตำบลมาสมัครเป็นสมาชิกทวีคูณมากขึ้น จากที่ผ่านมาสมัครแค่ปีละ 50-100 คน บางปีมีคนมาสมัครเป็น 500 คนก็มี นั่นหมายถึงว่าการจัดสวัสดิการของเราได้ช่วยเหลือและเกิดประโยชน์กับสมาชิกจริงๆ”

นายวิบูลย์ ดรอินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนกลาง จ.มหาสารคาม ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล : ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมด้านสาธารณะ ด้านการสงเคราะห์ การพัฒนาคุณภาพชีวิต เดิมยังไม่มีเรื่องสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นสนับสนุนในรูปแบบเงินอุดหนุนเงินด้านอาชีพ มีการให้ความรู้ ให้อุปกรณ์เครื่องมือ การสมทบสวัสดิการ 3 ขา ได้มีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2553 มีหลักการดำเนินการ โดยหลักการดังกล่าวมีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบริการสาธารณะ ท้องถิ่นมีหน้าที่ก็จริง แต่การให้การส่งเสริม สนับสนุนด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือการสงเคราะห์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของท้องถิ่น มีการเสนอในคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือประชาชน มีขั้นตอนกระบวนการมาก ซึ่งมองว่าหลักเกณฑ์ให้ประชาชนร่วมจัดการสาธารณะถือเป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง มีการจัดสวัสดิการทุกเรื่องตั้งแต่เกิดจนตาย หลักเกณฑ์มีการกำหนด 1) จดแจ้งองค์กร/กองทุนกับ พมจ. เป็นกองทุน ไม่น้อยกว่า 1 ปี มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50% ของหมู่บ้าน 2) มีการรายงานผลการดำเนินงาน ปีละ ไม่เกิน 2 ครั้ง คือ มีการรายงาน 6 เดือน 2 ครั้ง/ปี

“สำหรับตนนั้นมองว่าการสนับสนุนงบประมาณ ต้องให้การสนับสนุนพี่น้องที่ลำบากได้เลย ไม่ต้องผ่านกลไกและขั้นตอนหลากหลาย เช่นกรณีเสียชีวิต นำใบมรณะบัตรมายื่น ก็สามารถจ่ายได้เลย แม้กระทั่งซ่อมสร้างบ้าน เมื่อมีการสำรวจข้อมูลแล้วก็ช่วยเหลือได้เลย และมองว่ารัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นมากกว่านี้ เพราะสวัสดิการเป็นรากฐานสวัสดิการของชุมชน เป็นตัวหล่อเลี้ยงชุมชน ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”

นายสมคิด สิริวัฒนากุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแจ้งใหญ่ จ.นครราชสีมา ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล : การทำสวัสดิการตำบลหนองแจ้งใหญ่ มองถึงการขับเคลื่อนร่วมกันของคนทุกกลุ่ม เราเริ่มจากการรวมคนที่อยากให้หมู่บ้านหรือตำบลของตนเองมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการนั่งประชุมร่วมกัน ให้เกิดการเรียนรู้ ถ้าเคลื่อนงานในระดับตำบลต้องเข้าใจในเรื่องของการเมืองภาคพลเมือง มีการช่วยกันทำให้ดีขึ้น ประสานกับท้องที่ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง การร่วมมือกันมันเริ่มมาตั้งแต่ต้น มีการนำข้อมูลมาร่วมวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญ จนเกิดการวางแผนพัฒนา เพื่อเชื่อมโยงกับภาคี เพิ่มโอกาส มีการใช้สื่อสาธารณะเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารประเด็นปัญหาของพี่น้องชาวบ้าน

“การเสนอแผนพัฒนา ต้องมีกลยุทธ์วิธีการในการต่อยอดในมิติต่างๆ สภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของพี่น้องในพื้นที่ ชุมชนสามารถกำหนดประเด็นปัญหาและสามารถประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด  หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอหรือปัญหา ซึ่งเมื่อเรายื่นปัญหาไปแล้วพวกเราต้องมีกระบวนการติดตามด้วยเช่นกัน สวัสดิการชุมชนที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนต้องผลักดันและเสนอไปยังกลไกดังกล่าว สิ่งสำคัญคือเราต้องเปิดพื้นที่เป็นมิตรกับภาคีให้มาหนุนเสริมชุมชนเรา หาช่องทางและเพิ่มโอกาสในต่อรอง”

ดร.มณเทียร  สอดเนื่อง อนุกรรมการสวัสดิการชุมชน การยกระดับสวัสดิการชุมชนสู่องค์กรทางสังคม : เราต่อสู่กับตัวเราเองเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ กับสังคม แต่สิ่งที่ทำให้งานพัฒนาไม่สามารถทะลุทะลวงไปยังระดับนโยบายได้คือ ที่ผ่านมาชุมชนมีวิธีการเดิมๆ ทำมาได้ซักระยะหนึ่งแล้วก็ยุติ และใช้วิธีการทำงานแบบเดิมๆ จึงทำให้งานพัฒนายังไม่ก้าวหน้า ถือเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ และงานสวัสดิการชุมชนไม่ได้ติดที่กฎหมาย ไม่ได้ติดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ติดที่กระบวนการคิดและการทำงาน หากเราต้องการให้กองทุนสวัสดิการชุมชนให้เกิดพลังต้องทำให้เกิด 4 ใหม่ คือ ประการแรก วิธีคิดใหม่ ไม่ใช่ตั้งกองทุนมาแล้วถามว่ากู้ได้หรือไม่ กู้ได้เท่าไหร่ ควรคิดบนหลักสมเหตุสมผล ประการที่สอง ชุดความรู้ใหม่ “การบริหารระบบการเงินและการคลังในกองทุนสวัสดิการชุมชน” เพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมไปถึงความเสี่ยงและการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เกิดให้น้อยที่สุด ประการที่สาม มีวิธีการขับเคลื่อนงานแบบใหม่ ประการที่สี่ มีการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ทำให้เกิดความสัมพันธ์แนวราบ มีการขับเคลื่อนงานแลกเปลี่ยนและร่วมกัน ที่มีศักดิ์ศรีการทำงานเท่ากัน เป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาในการจัดสวัสดิการชุมชน

“เป้าหมายของกองทุนสวัสดิการชุมชนนั้น ยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนในแนวใหม่คือ (1) การเข้าเป็นสมาชิกต้องมีการเปิดรับหรือสมทบที่มากกว่า 1 รูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินอย่างเดียว สามารถเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่น การส่งเสริมการปลูกผัก ปลูกต้นไม้ การจัดการขยะ (2) ทำให้มีสวัสดิการเชิงรุก เพิ่มมากขึ้น เป็นการป้องกันหรือทำให้เกิดผลกระทบกับคนทั้งตำบล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการสาธารณะ คนในชุมชนได้รับสวัสดิการครอบคลุมทั้งหมดในพื้นที่ สร้างการรับรู้ ยอมรับด้านสวัสดิการชุมชนกับคนในท้องที่ (3) ระบบการบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่ระบบการเงิน การบัญชี การจัดเก็บเอกสาร การรายงานผล ทะเบียน ระเบียบ ฯลฯ และควรมีการปรับระเบียบทุกปี เพื่อให้เกิดการปรับและรองรับกับสถานการณ์การช่วยเหลือในห้วงเวลานั้นๆ (4) การใช้ข้อมูล นำมาสู่กระบวนการวิเคราะห์และจัดทำแผนด้านสังคม (5) การใช้เทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน (6) การเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม โดยกองทุนสวัสดิการชุมชน”

บทบาท พอช. ในการหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็ง

ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน นำไปสู่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า การหนุนเสริมการดําเนินงานสวัสดิการชุมชน นอกจากจะสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรสวัสดิการชุมชนในระดับตําบลแล้วนั้น จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล พอช. มีแนวทางส่งเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน ในการพัฒนาสนับสนุนกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ ให้สามารถขับเคลื่อนงานบรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่กำหนด การพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มีความสามารถในการจัดการทุนของตนเอง โดยการสร้างคลังปัญญา คลังอาหาร คลังแห่งงบประมาณ และเชื่อมโยงหน่วยงานในระดับพื้นที่ได้ การพัฒนาฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลไกสวัสดิการชุมชนด้านระบบการบริหารจัดการที่ และการขยายฐานสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามและผลักดัน ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. ….  การเสนอปรับรูปแบบการสมทบงบประมาณของกองทุนสวัสดิการชุมชน “สมทบถ้วนหน้า” การลดหย่อนภาษีให้กับผู้สมทบงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน การขับเคลื่อนงานร่วมหน่วยงาน 2 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กระทรวงกลาโหม ภายใต้ “แนวทาง 1 กองพัน 1 ตำบล ทหารกับประชาชนร่วมกันสร้างความมั่นคงของประเทศ” และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เรื่อง แผนการพัฒนาด้านสังคมสวัสดิการ

ทั้งนี้ในปี 2566 พอช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ตามโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน เพื่อสมทบกองทุน พัฒนากองทุนและกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศ จำนวน 5,961 กองทุน สมาชิก 6,715,570 คน เงินกองทุน (สะสม) 21,585,475,332.47 บาท ช่วยเหลือสมาชิกและผู้เปราะบางทางสังคม จำนวน 7,142,015 ราย และมีกลไกในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ทุกระดับทั้งระดับตำบล โซน จังหวัด ภาค มีการจัดสวัสดิการประเภทต่างๆ ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปจนถึงสวัสดิการการศึกษา การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การประกอบอาชีพ การดูแลช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นต้น โดยมีหลักการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของคนในชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน

ในส่วนของการขับเคลื่อนงานสวัสิการชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด มีการขับเคลื่อนงานในรูปแบบบูรณาการ ระหว่างขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และสถาบันการศึกษา มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ แผนงาน ทิศทาง จังหวะก้าวในการขับเคลื่อนงาน และติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สามารถปรับแผนงานและจัดสรรงบประมาณได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น กองทุนสวัสดิการชุมชนยังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้เป็นองค์กรทางสังคมที่มีความกว้างขวางและหลากหลาย ทั้งด้านการเข้าเป็นสมาชิก การมีสวัสดิการที่หลากหลายมิติ ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต มีระบบการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญ

ในปีงบประมาณ 2567 พอช. สนับสนุนการดำเนินงานโครงการการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน 233,822,800 บาท สามารถสนับสนุนการสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน 1,370 กองทุน สมาชิก 807,742 คน สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 771 กองทุน จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนใหม่ จำนวน 95 กองทุน รวมถึงพัฒนาศักยภาพกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับทั้งการการดำเนินงาน การบริหารจัดการและระบบเทคโนโลยี

ในการจัดงานสมัชชาครั้งนี้ เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ขออาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยจะร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการ (1) ฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพและยกระดับ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล” ที่มีอยู่ และจะจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นกลไกกลางที่ทำงานเชิงรุกในการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองและสร้างความมั่นคงในชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้ยากลำบากหรือขาดโอกาสในชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในการดำรงชีวิตปกติและสถานการณ์วิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจและภัยพิบัติ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้หลักคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” และ “การพึ่งตนเองและช่วยเหลือกัน” ของชุมชน (2) พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ ให้มีบทบาทและความสามารถในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ความร่วมมือกับองค์กรภาคีแบบหุ้นส่วนการพัฒนา และการพัฒนานโยบาย (3) ผลักดันทางนโบายให้เกิดการพัฒนา “ระบบสวัสดิการของชุมชน” ซึ่งเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และระบบสวัสดิการถ้วนหน้า รวมถึงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. …. ที่ภาคประชาชน  โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจะประสานพลังความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชน  องค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมือง