รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย คณะผู้แทนด้านสาธารณสุขไทย หารือร่วมคณะผู้แทนศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (CDC) ผลักดันการขับเคลื่อนจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ของภูมิภาคอาเซียน โดยคณะ CDC ยินดีสนับสนุนให้ข้อสรุปความร่วมมือในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการศูนย์ ACPHEED ในประเทศไทย ให้ได้รับความเห็นชอบจากประเทศเวียดนาม ภายในปี 2567 นี้
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เข้าร่วมประชุมหารือกับคณะผู้แทนจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (CDC) ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 77 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีคณะผู้แทนไทย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้แทนจาก CDC นางแอนดี้ ลิปสไตน์ ฟริสเต (Ms. Andi Lipstein Fristedt) รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย การสื่อสาร กฎหมายและหัวหน้าสำนักยุทธศาสตร์, ดร.เคย์ลา ลาเซอร์สัน (Dr. Kayla Laserson) ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพโลก (Global Health Center) เข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED)
นพ.พงศธร กล่าวว่า ปี 2563 ได้มีการขับเคลื่อนการจัดตั้ง ACPHEED โดยมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเจรจาให้ไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ และในปี 2565 มีข้อสรุปเห็นชอบให้เวียดนามเป็นศูนย์ด้านการเตรียมความพร้อมและการป้องกัน (Prevention and preparedness) อินโดนีเซียเป็นศูนย์ด้านการประเมินความเสี่ยงและการตรวจจับเชื้อโรค (Detection and risk assessment) และไทยเป็นศูนย์ด้านการตอบโต้สื่อสารความเสี่ยง (Response including risk communications) โดยมีสำนักเลขาธิการ ACPHEED (Secretariat Office) ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย และได้วางแผนจัดทำร่างความตกลงในการจัดตั้ง (Establishment Agreement) ให้แล้วเสร็จ โดยที่ผ่านมา มีการประชุมหารือต่อเนื่องหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติในร่าง EA ได้ ล่าสุด จากการประชุมไตรภาคีของเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 – 17 พฤศจิกายน 2566 ไทยและอาเซียนสามารถบรรลุความเห็นชอบต่อร่าง EA ร่วมกันได้ ขณะนี้รอการลงนามเห็นชอบจากประเทศเวียดนาม
นพ.พงศธร กล่าวต่อว่า จากการหารือครั้งนี้ คณะผู้แทน CDC ยินดีสนับสนุนให้ข้อสรุปความร่วมมือในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACPHEED ณ ประเทศไทย ให้ได้รับความเห็นชอบจากประเทศเวียดนาม ภายในปี 2567 นี้ ทั้งนี้ คณะผู้แทน CDC ได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานและความก้าวหน้า ตลอดจนข้อจำกัดในการขับเคลื่อนภารกิจของ ACPHEED ซึ่งคณะผู้แทนไทยได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีความพร้อมอย่างยิ่งในการจัดตั้งศูนย์ฯ ทั้ง 2 แห่ง คือ ศูนย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (Response Center) และศูนย์สำนักเลขาธิการของ ACPHEED ขณะนี้ได้เตรียมสถานที่และอาคารสำนักงาน รวมถึงมีแผนจัดสรรบุคลากรไว้เรียบร้อยแล้ว