กรมควบคุมโรค ร่วมมือ กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนก และโรคแอนแทรกซ์จากต่างประเทศ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)

กรมควบคุมโรค ประชุมหารือร่วมกับกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนก และโรคแอนแทรกซ์ ทั้งในคน สัตว์ และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยง และหาแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) เนื่องจากมีรายงานจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 รายใหม่ และการรายงาน พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ในประเทศเพื่อนบ้าน

วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดนก ในต่างประเทศ ปี 2567 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกจากโคนมในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 3 ราย ช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) พบว่าทั้ง 3 รายทำงานในฟาร์มโคนม มีอาการตาแดง และเยื่อบุตาอักเสบ ได้รับยาต้านไวรัส และแยกกักตัวที่บ้าน ในจำนวนนี้หายจากอาการป่วยเรียบร้อยแล้ว 2 ราย รายที่ 3 อยู่ระหว่างแยกกักตัวที่บ้านและอาการดีขึ้นแล้ว นอกจากนี้กระทรวงเกษตรสหรัฐเปิดเผยว่า พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน “อัลปากา” ซึ่งเป็นอูฐชนิดหนึ่ง ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐไอดาโฮ หลังจากสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์มดังกล่าวได้ถูกกำจัดไปแล้วก่อนหน้านี้ ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา ยังคงติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด สำหรับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงประเทศไทย มีรายงานพบโรคไข้หวัดนกในคน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา 5 ราย เสียชีวิต  1 ราย และประเทศเวียดนาม 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก นับตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก รายสุดท้ายในประเทศไทยใน ปี 2549

กรมควบคุมโรค มีมาตรการร่วมกับเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในคน ดังนี้ 1) ติดตาม และประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์โรคทั้งในคนและสัตว์อย่างต่อเนื่อง  2) เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ ในการดำเนินการสอบสวน และควบคุมโรคร่วมกับกรมปศุสัตว์และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในพื้นที่  3) แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้เฝ้าระวังผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล และชุมชน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีช่องทางเข้าออกติดต่อกับพื้นที่ที่พบการระบาด  4) สื่อสารความเสี่ยง และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกในพื้นที่

สำหรับมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์ และสัตว์ป่า  กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานฯ ได้มีการสุ่มตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและนกป่าอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น ประกาศชะลอการนำเข้าสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มาจากประเทศที่พบการระบาดไข้หวัดนก ให้ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศ  บูรณาการร่วมกับด่านศุลกากร สุ่มตรวจการนำเข้าสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ออกประกาศแจ้งเตือนปศุสัตว์ทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังการเกิดโรคในพื้นที่ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกและแอนแทรกซ์ ประชาสัมพันธ์แนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ให้มีการจัดระบบป้องกันโรคก่อนเข้าฟาร์ม และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในบริเวณเดียวกัน

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยแอนแทรกซ์อย่างต่อเนื่อง   ช่วงปี 2535 – 2543 โดยพบการระบาดในคนและสัตว์ครั้งสุดท้ายที่จังหวัดพิจิตร ในปี 2543 จังหวัดที่มีการรายงานโรค เป็นประจำ ได้แก่ เชียงราย ตาก พิษณุโลก สุรินทร์ อุดรธานี พะเยา และพิจิตร จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ป่วยประปราย ได้แก่ นครพนม เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง กรุงเทพมหานคร แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และนนทบุรี

โดยปี 2560 พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 2 ราย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากการนำซากแพะที่ตายจากประเทศเมียนมามาชำแหละด้วยมือเปล่า และในปี 2567 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายงานพบผู้ป่วยใน 2 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว ที่แขวงจำปาสัก มีผู้ป่วยรวม 65 ราย และประเทศอินโดนีเซีย ที่เมืองยอร์คจาการ์ตาร์ มีผู้ป่วยรวม 17 ราย ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต