สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 มิ.ย. 67 เวลา 9.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : ในวันที่ 9-10 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออก หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 11-12 มิ.ย. 67 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 50% ของความจุเก็บกัก (40,660 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 29% (16,486 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันตก: ปราณบุรี

3.คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน น้ำเพื่อการเกษตร
– แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4.ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : 4.1 ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 6/2567 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 67 เฝ้าระวัง
น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 4 –11 มิ.ย. 67 มีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา น่าน ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุบลราชธานี
ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
ภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
4.2 สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 6 – 12 มิ.ย. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามสมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

5.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเพิ่มศักยภาพการใช้กระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ในการวางแผนด้านทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำ ครั้งที่ 1 สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 ที่เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในเขตลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ และมีข้อเสนอให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มาใช้ในการปรับปรุงแผนแม่บทลุ่มน้ำ
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ สทนช. ได้จัดประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่แรก เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำหลายสาย โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำเข้าร่วม ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน จำนวน 120 คน เข้าร่วมโดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำ จะสามารถนำกระบวนการ SEA ไปต่อยอดในการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำในปีงบประมาณ 2568 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนความต้องการและบริบทของแต่ละลุ่มน้ำได้อย่างแท้จริง สอดรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศักยภาพและทิศทางการพัฒนาในเชิงพื้นที่ ที่สอดคล้องสมดุลกันทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศที่มีประสิทธิภาพต่อไป