กรมประมง..”ปลื้ม!  ได้รับรางวัลการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชนบท “Aziz – Ul Haq Rural Development Medal 2024” จากศูนย์พัฒนาชนบทแบบผสมผสานสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ CIRDAP  

 

วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30 น. ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพฯ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง มอบหมายให้ นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เป็นผู้แทนเข้ารับรางวัลการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชนบท Aziz – Ul Haq Rural Development Medal  2024  ซึ่งจัดขึ้นในพิธีเปิดการประชุมระดับมนตรี (Governing Council) ของศูนย์พัฒนาชนบทแบบผสมผสานสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Centre on Integrated Rural Development for Asia and the Pacific : CIRDAP) สมัยที่ 24 โดยได้รับเกียรติจาก นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และ ดร.เชิดศักดิ์ วีระพัฒน์  ผู้อำนวยการใหญ่ CIRDAP เป็นผู้มอบรางวัล

 

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังการเข้ารับรางวัลดังกล่าวว่ากรมประมงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ในปี 2567 นี้ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานดีเด่นในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชนบทจาก CIRDAP ซึ่งเป็นองค์การระหว่างรัฐบาล ที่จัดตั้งขึ้นโดยความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2522  เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานผ่านความร่วมมือในระดับภูมิภาค ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย โดยดำเนินงานผ่านกระทรวงที่เกี่ยวข้องและสถาบันทางวิชาการของประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีการพิจารณามอบเหรียญเชิดชูเกียรติและใบประกาศเกียรติคุณ Aziz-Ul Haq Rural Development Medal ให้แก่ผู้นำประเทศ องค์กร บุคลากรของรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษาและเกษตรกร ที่ทำคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาชนบทและการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท ตลอดจนการมีคุณูปการ ต่อองค์กร

ด้วยความสำเร็จของกรมประมงที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้  มาจากการผลักดันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มีนโยบายมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและสนับสนุนการประกอบอาชีพด้านการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความสุขให้กับพี่น้องเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศ  โดยในส่วนของกรมประมงนั้น มีโครงสร้างการบริหารงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มีสำนักงานประมง รวมกว่า 500 แห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชนบททั่วประเทศ  โดยมีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบทโดยตรง ได้แก่ การรักษาเสถียรภาพของผลผลิตสัตว์น้ำควบคู่กับการสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการประมงไทยด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ปลอดภัย และมีความหลากหลาย รวมถึงการยกระดับด้านประมงของไทยผ่านการวิจัยและพัฒนาไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามแนวทางหลักในการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bioeconomy – Circular Economy – Green Economy) หรือ BCG Model

รองอธิบดีกรมประมง  กล่าวต่อไปว่า จากผลงานความสำเร็จในหลายด้านของกรมประมงทั้งการพัฒนาชุมชนประมง  การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการทำการประมงอย่างยั่งยืน  การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  รวมถึงการสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารและการศึกษา  ล้วนแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในการมีส่วนร่วมพัฒนาชนบท  ไม่เพียงแต่ปรับปรุงความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกร ชาวประมง และผู้คนในพื้นที่ชนบทหลายล้านคนเท่านั้น  แต่ยังทำให้เกิดการปรับตัวของชุมชนในชนบทให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นด้วย  จึงนับเป็นการรักษาความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการมีความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมของชุมชนในชนบท
ให้ยั่งยืนต่อไป