วธ.ติวเข้มเยาวชน 25 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก เรียนรู้วิธีรับมือภัยคุกคามจากไซเบอร์ รู้เท่าทันสื่อยุคใหม่ ปั้นเป็น“คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เผยแพร่สู่สังคม ปลูกฝังคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Young Talent รวมพลเยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สรรค์สร้างสังคม “Content Creator” เมื่อเร็วๆนี้ที่โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม วิทยากร เครือข่ายเด็กและเยาวชน และเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม 25 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออกกว่า 100 คน เข้าร่วมว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรม อันดีงามเผยแพร่สู่สังคม ขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยต่อการเฝ้าระวังพฤติกรรม หรือความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนการตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เหมาะสม ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ที่สำคัญได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนที่เป็นเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม รู้เท่าทันสื่อและภัยคุกคาม ทุกรูปแบบ และนำไปใช้ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญพัฒนาประเทศ

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Young Talent รวมพลเยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สรรค์สร้างสังคม “Content Creator” ซึ่งจัดอบรมในภูมิภาคต่างๆ มาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 2 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ณ จังหวัดพิษณุโลก และครั้งที่ 3 กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ ซึ่งการจัดอบรมแต่ละภูมิภาคได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน วิทยากรจากสำนักงานเลขานุการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม คณะอนุกรรมการพัฒนาสื่อดิจิทัลในกลุ่มเยาวชนอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย วุฒิสภา และคณะวิทยากรเยาวชน Seed Thailand มาถ่ายทอดความรู้และร่วมกันพัฒนาทักษะเสริมสร้างศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมทุกภาคส่วนได้รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 และรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมและกลโกงออนไลน์ในยุคปัจจุบัน รวมถึงยกระดับกลไกการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพในการติดตามสถานการณ์เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยสังคมและเฝ้าระวังพฤติกรรมที่มีแนวโน้ม ส่งผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม และร่วมแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่าง ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

“เด็กและเยาวชนทุกคนที่เข้าอบรม จะได้เรียนรู้ทักษะผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อเป็นผู้ผลิตเนื้อหาสื่อสร้างสรรค์ หรือ Content Creator ในการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อในแพลตฟอร์มต่างๆ และในโซเชียลมีเดียและเป็นเยาวชนแกนนำที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชน ตลอดจนนำความคิดสร้างสรรค์และทักษะการผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปขยายผลให้เกิดสื่อที่ดีและสร้างสรรค์เผยแพร่สู่สังคมและนำไปต่อยอดเพื่อเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตัวเองในอนาคต รู้สึกภาคภูมิใจเยาวชนบางคนที่ผ่านอบรมได้นำความรู้ไปต่อยอดจนเป็นมืออาชีพด้านผลิตสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย สร้างรายได้แก่ตนเองและเติบโตเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้สู่สังคม ปัจจุบันมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สนับสนุนเด็กและเยาวชนผลิตสื่อดี รวมถึงวธ.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานป้องกันการทุจริต หน่วยงานกระทรวงกลาโหมขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์สื่อดี และสถาบันการศึกษาและเอกชนจัดประกวดสื่อดีเช่นกัน อีกทั้งอยากให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องกฎหมายด้านสื่อ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2560 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เพื่อจะไม่กระทำผิดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะเดียวกันสิ่งที่วธ.อบรมไม่ใช่แค่ความรู้เท่านั้น แต่ยังมุ่งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สิทธิและหน้าที่ของเด็กและเยาวชน ความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่เด็กและเยาวชนด้วย ”ดร.ยุพา กล่าว