กรมควบคุมโรค จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ วันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2567 ขึ้น เพื่อให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมควบคุมโรค เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ร่วมกัน ด้วยบุคลากรในองค์กรทุกคนเป็นกุญแจดอกสำคัญในการผลักดันร่วมแรงและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในองค์กร กิจกรรมในครั้งนี้เพื่อ ปลุกพลัง ปรับพฤติกรรมสร้างการมีส่วนร่วม ด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
วันที่ 5 มิถุนายน 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้ นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์กิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมด้วย นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.นพ.ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหารกรมควบคุมโรค ณ โถงอาคาร 1 ชั้น 1 ตึกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีดรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน นับว่าเป็นปัญหาสำคัญและมีความรุนแรงอย่างยิ่ง และเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ กรมควบคุมโรค มีภารกิจในการดูแล เฝ้าระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษ หรือสิ่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และวิกฤติทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยทุกวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวจากวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก เพื่อให้ทุกหน่วยงานทุกระดับหันกลับมาเริ่มต้นขับเคลื่อนการรักษ์สิ่งแวดล้อมในองค์กรอย่างจริงจัง กรมควบคุมโรค จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ วันสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “Refund ปันสุข @DDC เปลี่ยนขวดให้เป็นไข่ เปลี่ยนกระดาษที่ไม่ใช้เป็นน้ำมัน” ขึ้น เพื่อให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมควบคุมโรค เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ร่วมกัน ดังนั้นทุกคนในองค์กรจึงมี ส่วนสำคัญในการผลักดัน และขับเคลื่อน พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะ และง่ายต่อการนำไปจัดการอย่างถูกวิธี นำขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เข้าสู่ระบบรีไซเคิล และลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น สร้างการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพราะเชื่อว่าการสร้างการมีส่วนร่วมในความร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในองค์กร จะช่วยให้ทุกคนเกิดความตระหนักในการปฏิบัติ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรรักษ์โลกที่ถือปฏิบัติสืบต่อไป
นอกจากนั้น ดร.นพ.ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพฯ กล่าวต่อว่า จากการรายงานความเสี่ยงโลก ประจำปี 2565 (Global Risks Report 2022) ได้ประเมินความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ในด้านมิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีทั้งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ และวิกฤติทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งความเสี่ยง 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.ความล้มเหลวของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.ความแปรปรวนของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว และ 3.การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนอกจากจะประสบกับปัญหาข้างต้นแล้ว ยังพบปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นจากฝุ่นละออง PM2.5 ปัญหาสารโลหะหนักในขยะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาจากภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดโรคที่เกี่ยวข้องจาก ความร้อน เช่น ฮีทสโตรก หรือโรคลมร้อน โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด โรคผดผื่นจากความร้อน ด้วยปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข สร้างความตระหนักในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดระบบการจัดการขยะที่ดี เกิดวัฒนธรรมองค์กรรักษ์โลก ร่วมมือกันปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เพื่อโลกของเราและสุขภาพที่ดีของลูกหลานเราต่อไปในอนาคต
ท้ายนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้รับความรู้ด้านการจัดการขยะลดผลกระทบทางสุขภาพ รูปแบบ/กระบวนการจัดการขยะภายในองค์กรที่ถูกต้อง เหมาะสม และยั่งยืน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การแชร์ประสบการณ์การดำเนินงาน “องค์กรรักโลก รักษ์สิ่งแวดล้อม” จาก 5 หน่วยงานที่มีการดำเนินงานดีเด่น ที่จะมาเล่าเรื่องราวความสำเร็จของการร่วมกันรักษ์โลกของบุคลากรในองค์กร รวมทั้งกิจกรรมบูธนิทรรศการให้ความรู้สู้ภัยจากสิ่งแวดล้อมโดยหน่วยงานเครือข่าย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานในองค์กร โดยเริ่มจากหน่วยงานเล็กๆ ขยายผลสู่องค์กรอื่น ในการลดและการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนอื่นๆ สามารถร่วมรับชมกิจกรรมย้อนหลัง ผ่านทาง Facebook Live กรมควบคุมโรค และกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ในวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป