“พม.” ร่วมจัดกิจกรรม Bangkok Pride Festival 2024” ย้ำ พม. เคารพศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมระหว่างเพศ มุ่งมั่นให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษาและการเมือง

นายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ พม. ได้เข้าร่วม กิจกรรม Bangkok Pride Festival 2024 ในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดเทศกาลต้อนรับเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในปัจจุบันประเทศไทย ที่มีการขับเคลื่อนความเท่าเทียมระหว่างเพศในหลากหลายมิติเพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโครงสร้าง มาตรการและกลไกผลักดัน แนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิ ยอมรับคุณค่าและศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายของบุคคลทุกเพศ ในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เราให้ความสำคัญกับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงฯ ให้ประชาชนไทยทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทุกเพศสามารถเข้าถึงสิทธิด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษาและการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นายธนสุนทร กล่าวอีกว่า กระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีผลการดำเนินงานสำคัญ อาทิ การประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ การผลักดันมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีฯ เมื่อปี 2563 การส่งเสริมให้หน่วยงาน องค์กรมีนโยบาย กฎ ระเบียบ และกลไกต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ทั้งหมด 63 หน่วยงาน (ภาคเอกชน 34 หน่วยงาน ภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 22 หน่วยงาน สถาบันการศึกษา 6 หน่วยงาน และพรรคการเมือง 1 พรรค) เพื่อแสดงจุดยืนและร่วมกันเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ การจัดทำกฎหมายเพื่อการรับรองเพศ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการโดยเป็นการเสนอกฎหมายใหม่เพื่อรับรองสิทธิในการกำหนดเจตจำนงทางเพศสภาพของบุคคล รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และผลทางกฎหมายของการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามลักษณะเฉพาะของบุคคล เป็นต้น

อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดงาน Bangkok Pride Festival 2024 ในปีนี้ นอกจากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดที่ยิ่งใหญ่นี้แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้กับมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศและเครือข่ายไพรด์ 17 จังหวัด (18 พื้นที่) ร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในระดับจังหวัด เช่น การเสวนา/การอบรม การเดินรณรงค์ การจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจความเท่าเทียมระหว่างเพศให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ผมขอสื่อสารไปยังภาคีเครือข่ายไพรด์ ทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดว่าหน่วยงานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ พร้อมทำงานร่วมกับทุกท่านและพร้อมรับฟังปัญหา ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมผลักดันนโยบาย มาตรการกลไกเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและขจัดอุปสรรคซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

“อย่างไรก็ตาม การสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม กิจกรรมในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนพร้อมที่จะร่วมกันส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพร้อมสนับสนุนทุกกิจกรรมให้ประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดงาน Word Pride ในปี 2573 (ปี ค.ศ. 2030) ต่อไปในอนาคต” นายธนสุนทร กล่าวย้ำ