กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชน ดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เน้นรักษาอาการยอดฮิตที่มักเจ็บป่วยได้ง่าย ช่วงฤดูฝน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท เพื่อให้ร่างกายห่างไกลอาการเจ็บป่วย
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ปี 2567 แล้ว ในช่วงฤดูฝนหรือที่เรียกว่าวสันตฤดู ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย สภาพอากาศจะเย็นและชื้น หากกระทบร่างกาย จะส่งผลให้ธาตุลมในร่างกายเสียสมดุลเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย มีข้อแนะนำในการใช้สมุนไพรรักษาแต่ละอาการ เช่น 1)อาการทางระบบทางเดินหายใจ มีอาการหวัด เจ็บคอ ใช้ยา ฟ้าทะลายโจร , มีอาการหวัด มีน้ำมูก เป็นไข้ ใช้ยาจันทลีลา, มีอาการหวัดภูมิแพ้ มีน้ำมูก ใช้ยาปราบชมพูทวีป , มีอาการเจ็บคอ ไอระคายคอ มีเสมหะ ใช้ยา ประสะมะแว้ง อัมฤควาที ยาแก้ไอมะขามป้อม ตรีผลา และ ขิง กรณีใช้ยาสุม (รมไอน้ำ) ในกรณีอาการหวัด คัดแน่นจมูก หรือภูมิแพ้อากาศ ทางการแพทย์แผนไทยก็มีวิธีแก้ง่ายๆ ด้วยการรมไอน้ำ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถทำที่บ้านได้ด้วยตนเอง โดยการนำหอมแดง 3 – 4 หัว ทุบพอแหลก ใบมะขามและใบส้มป่อยอย่างละ 1 กำมือ ใส่กะละมังหรือหม้อที่ทนความร้อนแล้วเติมน้ำร้อนใส่พอท่วมสมุนไพร ปิดฝาหม้อไว้ 2 – 3 นาที ให้น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรส่งกลิ่นหอม จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ คลุมศีรษะ และเปิดฝาหม้อรมไอน้ำให้ทั่วใบหน้าสูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ประมาณ 5 – 10 นาที หรือกว่าไอน้ำจะหมด ทำช่วงเช้าเป็นระยะเวลา 4 – 5 วัน อาการคัดแน่นจมูกจะค่อย ๆ ดีขึ้น ตามลำดับ ประโยชน์ของการสุม (รมไอน้ำ) ช่วยทำให้ระบบทางเดินหายใจดีขึ้น บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล และภูมิแพ้อากาศได้ 2)อาการระบบทางเดินอาหาร เช่นท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ใช้สมุนไพร ขมิ้นชัน, ขิง , ยาธาตุบรรจบ และ ประสะกานพลู 3)อาการระบบไหลเวียนโลหิต เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ให้ใช้ประเภท ยาหอม และ 4)อาการกล้ามเนื้อ และระบบประสาท เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ความเครียด นอนไม่หลับ ใช้เถาวัลย์เปรียง สหัศธารา ธรณีสัณฑฆาต ยาหอม การนวด การอบ และ การประคบ เป็นต้น
สำหรับ พืชผักสมุนไพร เมนูอาหาร และเครื่องดื่ม ที่แนะนำให้รับประทานในช่วงนี้ คือ พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีรสเผ็ดร้อน สุขุม หอม มาปรุงอาหารเพื่อป้องกันโรค เพราะสมุนไพรรสเผ็ดร้อนจะกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้วิงเวียนศีรษะได้ดี เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา กระชาย แมงลัก สะระแหน่ ช้าพลู ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชี โหระพา หอมแดง กระเทียม ใบมะกรูด พริกไทย ยอดพริก ยี่หร่า หูเสือ ผักไผ่ พลูคาว ผักคราด กะทือ กระเจียว ผักแพว เอื้อง เป็นต้น สำหรับเมนูอาหาร เช่น แกงเลียง ผัดกะเพรา ต้มยำ แกงส้มผักรวม น้ำพริกกับผักต่าง ๆ เมี่ยงคำ เป็นต้น เครื่องดื่ม เช่น น้ำขิง น้ำกระชาย น้ำมะตูม น้ำมะนาว น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำใบเตย ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการบริโภคช่วงฤดูฝน คือ อาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด และอาหารที่ย่อยยาก เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ธาตุลมในร่างกายแปรปรวนและเสียสมดุลมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย
หากท่านมีข้อสงสัย สามารถสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊กhttps://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM