นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ให้ความสำคัญกับภาคการประมงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงได้มีนโยบายที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงทะเลไทย แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง และพลิกฟื้นให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำด้านการประมงอีกครั้ง ภายใต้นโยบายต่างๆ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมงขึ้น
นายบัญชา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมงทะเลได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล และเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล และการวิเคราะห์จุดอ้างอิง ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับการดำเนินงานของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ โดยคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กรมประมงจึงได้จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน รวบรวม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์จุดอ้างอิงของทรัพยากร จัดการประชุมคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล พร้อมทั้งนำเสนอผลการวิเคราะห์จุดอ้างอิงในการประชุมคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ฯ และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ ให้กับหน่วยงานภายในกรมประมง หน่วยงานเอกชน สมาคมด้านการประมง องค์กรนอกภาครัฐ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบ
โดยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา กรมประมงมีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอยู่ในภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และหลักการป้องกันล่วงหน้า ตลอดจนเพื่อฟื้นฟูและรักษาระดับทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน พระราชกำหนดการประมง ยังกำหนดให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรโดยใช้จุดอ้างอิง ซึ่งใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อการวิเคราะห์จุดอ้างอิง โดยกรมประมงใช้ “ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน” หรือ Maximum Sustainable Yield (MSY) เป็นจุดอ้างอิง มาตั้งแต่การออกใบอนุญาตทำการประมงภายใต้พระราชกำหนดการประมง ครั้งแรกใน พ.ศ. 2559 โดยใช้ MSY เป็นจุดอ้างอิงในการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง หรือ Total Allowable Catch (TAC) และกรมประมงจะนำปริมาณสัตว์น้ำตามค่า TAC มาจัดสรรให้กับเรือที่ขอรับใบอนุญาตทำการประมง การใช้ MSY เป็นจุดอ้างอิงดังกล่าว สามารถขจัดปัญหาการทำการประมงเกินศักย์การผลิต หรือ overfishing ได้อย่างรวดเร็ว และการกำหนดมาตรการบริหารจัดการประมงภายใต้พระราชกำหนดการประมงยังสามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง ดังจะเห็นได้จากอัตราการจับสัตว์น้ำ หรือ CPUE ของเรือสำรวจประมง และเรือประมงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ฯ ของกรมประมงนั้น จะทำให้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็ว มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรและการประมงและที่สำคัญคือ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวประมง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน เกิดการยอมรับของชาวประมง และสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐที่กำหนดขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 กรมประมง โดยนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ดำเนินการเปิดสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล อย่างเป็นทางการ โดยสำนักงานฯ ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 อาคารปลอดประสพ กรมประมง มีนายปวโรจน์ นรนาถตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงทะเล กรมประมง เป็นหัวหน้าสำนักงานฯ