นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชา ติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้นางสาวเบญจมาศ สืบเนียม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดอบรมโครงการอบรมการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสหกรณ์ ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับกระบวนการผลิต (GMP) สามารถนำระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) ไปใช้จัดเก็บข้อมูลตามสอบสินค้าเกษตรและข้อมูลการบริหารจัดการกระบวนการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี QR Code มาใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภค ซึ่งระบบ QR Trace on Cloud จะทำให้เกษตรกรเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อกำหนดทาง โดยผ่านมาได้มีผู้สนใจสมัครใช้งานระบบ QR Trace on Cloud กว่า 3,400 ราย ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และมีผู้สมัครใช้งานเว็บไซต์ DGTFarm กว่า 4,200 ราย อย่างไรก็ดี การใช้งานระบบ QR Trace on Cloud และเว็บไซต์ DGTFarm จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสินค้าคุณภาพให้สามารถสร้างความแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ อีกด้วย
ในโอกาสนี้ นางสาวเบญจมาศ สืบเนียม ได้ลงพื้นตรวจเยี่ยมสวนผักบ้านความสุข อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ และร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนงานของสวนผักบ้านความสุข ในด้านการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรผ่านระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm)
สวนผักบ้านความสุข ตั้งอยู่ที่ หมู่ 12 ตำบลนำหนองทุ่ม อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ โดยเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2565 สวนผักบ้านความสุขมีการทำการเกษตร ในรูปแบบเกษตรปลอดภัยไร้สารพิษ ปลูกในโรงเรือนยกแคร่ ควบคุมระบบการเพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยี IoT Smart Farm ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เป็นต้นแบบในการทำเกษตรปลอดภัย ทำน้อย ได้มาก โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานและนำไปสู่การปฏิบัติ โดยผลผลิตส่วนใหญ่ คือ ผักสด ผักกาดหอม ผักสลัด กรีนคอส เบบี้คอส ฟิลเลย์ บัตเตอร์เฮด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค และผักเคล ซึ่งจัดจำหน่ายหน้าสวนในรูปแบบตัดสดจำหน่ายเป็นกิโลกรัมและแบบยกถุงเพื่อนำไปปลูกต่อ โดยในปี พ.ศ. 2567 สวนผักบ้านความสุขอยู่ระหว่างการปรับขยายพื้นที่เพาะปลูกจาก 1 งาน เป็น 7 ไร่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand)
“อย่างไรก็ดี สวนผักบ้านความสุข คาดว่าจะมีการนำระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) ไปใช้งาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนให้แก่ผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์อีกช่องทางหนึ่งด้วย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว