อย. ชี้ กระแสกิน “เห็ดขี้ควาย” เป็นอันตราย เนื่องจากเห็ดขี้ควายเป็นยาเสพติด ทำให้เคลิบเคลิ้ม บ้าคลั่ง ประสาทหลอน ผู้เสพมีโทษถึงจำคุก ส่วนผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครอง มีโทษทั้งจำและปรับ
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข่าวการจับกุมผู้ต้องหาลักลอบเพาะเห็ดขี้ควายเพื่อจำหน่าย พร้อมเปิดคอร์สสอนวิธีการกิน อ้างตนเองสำเร็จนิพพานเป็นเทพเจ้า มีคลื่นความถี่สามารถรับรู้ทุกสิ่งบนโลกได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยเกรงจะมีผู้เข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าวมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเห็ดขี้ควายมีสารออกฤทธิ์ไซโลไซบีน (Psilocybine) เมื่อบริโภคเข้าไปจะเกิดอาการเมา เคลิบเคลิ้ม บ้าคลั่ง คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีลวงตา และต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันสารไซโลไซบีนมีการศึกษาทดลองทางคลินิกเพื่อใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า แต่ยังมีข้อมูลจำกัด และยังไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย. รวมถึงยังไม่มีประเทศใดที่รับรองการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีสารไซโลไซบีนเป็นส่วนประกอบ
สำหรับประเทศไทย เห็ดขี้ควาย ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผู้เสพมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้าหรือทำให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 1.5 ล้านบาท ส่วนสารไซโลไซบีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง อย. จึงขอเน้นย้ำผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อ มิเช่นนั้น จะมีโทษตามกฎหมายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้บริโภคควรระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อคำอวดอ้างเกินจริงตามกระแสข่าว และหากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line : @FDAThai, Facebook : FDA Thai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ