กรมการแพทย์ระบุโรคนิ่วในถุงน้ำดีมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1-2 เท่า ชี้กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ธาลัสซีเมีย โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก แนะป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการลดกินอาหารมีไขมันและการออกกำลังกายเป็นประจำ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า นิ่วในถุงน้ำดี มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 1-2 เท่า ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ธาลัสซีเมีย โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก มีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป นิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดี เกิดจากการตกผลึกของหินปูน (แคลเซียม) คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน (สารเคมีชนิดหนึ่งที่ให้สีเหลืองออกน้ำตาล เกิดจากการแตกตัวหรือการตายของเซลล์เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด) ที่มีอยู่ในน้ำดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกผลึกของสารเหล่านี้ เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี และความไม่สมดุลของส่วนประกอบคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดี การตกผลึกของสารเหล่านี้อาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วเพียงก้อนเดียว หรือก้อนเล็กๆ หลายๆ ก้อนก็ได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่ว 1. ความอ้วน คนอ้วนจะเกิดนิ่วที่มีคอเลสเตอรอล เนื่องจากการบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง 2. การได้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการรับประทานหรือตั้งครรภ์ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง 3. การได้ยาลดไขมันบางชนิด ทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง 4. ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากๆ 5. การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายละลายไขมันมากไป
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการของนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่พบอาการผิดปกติแสดงให้เห็นและมักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเช็คร่างกายบางคนอาจมีอาการท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย ซึ่งมักเป็นหลังกินอาหารมันๆ ในรายที่ก้อนนิ่วเคลื่อนไปอุดในท่อส่งน้ำดี จะมีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวาหรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา มักปวดนานเป็นชั่วโมงๆ และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย บางคนอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออก เป็นลม อาการปวดท้องมักเป็นหลังกินอาหารมันหรือกินอาหารมื้อหนัก บางคนอาจมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) เกิดขึ้นตามหลังอาการปวดท้อง การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติ มักไม่มีไข้ บางครั้งอาจตรวจพบอาการกดเจ็บเล็กน้อยบริเวณใต้ลิ้นปี่และได้ชายโครงขวา สำหรับการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้อง เป็นการผ่าตัดแบบใหม่ โดยการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้องสามารถทำได้สำเร็จถึงร้อยละ 95 ทั้งนี้ มีข้อแนะนำว่า ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี แม้จะไม่แสดงอาการ อาจตรวจพบตอนไปตรวจรักษาโรคอื่น แพทย์จะแนะนำให้รับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจมีการอักเสบและมีโรคแทรกซ้อนตามมาก็ได้ที่สำคัญโรคนี้ป้องกันได้ด้วยการลดกินอาหารมีไขมัน และการออกกำลังกายเป็นประจำ
****************************************
#โรงพยาบาลราชวิถี #กรมการแพทย์ #นิ่วในถุงน้ำดี