สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เข้ารับการประเมินองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เผยรายงานผลการประเมิน 100 คะแนนเต็ม อยู่ในระดับ ดีมาก ได้รับคะแนนอันดับ 1 จาก 35 องค์การมหาชนของประเทศ ที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน ที่สามารถปฏิบัติงานได้ตอบโจทย์ความต้องการด้านการเกษตรของประเทศและประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ 20 ปี แผนปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แผนววน. และแผนปฏิบัติงานด้านการวิจัยการเกษตร เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรรม
นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหนึ่งในองค์การมหาชนของประเทศ ที่มีภารกิจที่สำคัญในการบริหารจัดการทุนวิจัยภาคเกษตรของประเทศ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ด้าน Demand side เป็นสำคัญ เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ภายใต้การร่วมสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งที่ผ่านมาผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ สวก. ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ นักวิจัย และเกษตรกร สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 15,550 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 สวก. ยังคงมีนโยบายสนับสนุนงานวิจัยอย่างเข้มข้นเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและเชื่อมโยงกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่มาขับเคลื่อนภาคการเกษตรต่อไป
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. มีการประเมินองค์การมหาชน เป็นประจำทุกปี โดยพิจารณาประสิทธิภาพและการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สังคมและเศรษฐกิจ และจะถูกนำมากำหนดกรอบการประเมินในปีงบประมาณต่อไป สำหรับปีงบประมาณ 2566 มีองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 35 แห่ง โดย สวก. ได้รับการประเมิน 100 คะแนนเต็ม ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ซึ่งในปีที่ผ่านมา สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยจากงบประมาณที่ได้รับจาก ววน. จำนวน 221 โครงการ งบประมาณรวม 613.3777 ล้านบาท นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนผลงานที่สำคัญมากมาย อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร การสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันอื่นของรัฐและเอกชนในการผลิตและพัฒนางานวิจัยและนักวิจัยการเกษตรทั้งในและต่างประเทศ การสร้างศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลและสารสนเทศในด้านการเกษตรที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาตลอดจนเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฯลฯ ท้ายนี้ ผมขอขอบคุณทุกกำลังใจและการสนับสนุนของของคณะกรรมการ สวก. ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สวก. ให้คำมั่นว่าจะนำความรู้ความสามารถมาพัฒนางานที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด และขอรักษามาตรฐานการดำเนินงานต่อไป เนื่องจากภาคการเกษตร มีปัญหาค่อนข้างมาก ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ การพัฒนาผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเกษตรได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น