เตรียมส่งต่อโมเดลไม้ผลตะวันออกสู่ภาคใต้ ต้อนรับฤดูกาลผลิตที่กำลังจะมาถึง ชูผลสำเร็จป้องปรามทุเรียนด้อยคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ฤดูกาลผลิตไม้ผลภาคตะวันออกปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งการเข้มงวดให้เจ้าหน้าส่งเสริมการเกษตรเน้นย้ำมาตรการป้องปรามทุเรียนด้อยคุณภาพภาคตะวันออก  มีการดำเนินงานชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นการให้บริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งแก่เกษตรกรที่ประสงค์จะตัดทุเรียนจำหน่ายก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยวทุเรียนประจำภาค เป็นการสร้างกลไกการสนับสนุนมาตรการควบคุมและป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน โดยให้เกษตรกร ผู้รับจ้างตัดทุเรียน และโรงรวบรวมและคัดบรรจุ (ล้ง) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อขายทุเรียน ด้วยการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในตัวอย่างทุเรียนที่เป็นตัวแทนในแต่ละรุ่นก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3 วัน สำหรับการตัดทุเรียนจำหน่ายก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยวทุเรียนประจำภาค ซึ่งนับเป็นการยกระดับคุณภาพทุเรียนไทยที่ส่งออกจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนสำหรับให้เจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น

สำหรับฤดูกาลผลิตไม้ผลภาคตะวันออกปี 2567 ในพื้นที่ 3 จังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งจุดบริการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ในเนื้อทุเรียนในปีการผลิต 2567 จำนวน 55 จุด ครอบคลุมพื้นที่ในแหล่งผลิตและแหล่งรวบรวมสินค้าทุเรียนเพื่อการส่งออก ประกอบด้วย สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ เทศบาล สหกรณ์การเกษตร กลุ่มแปลงใหญ่ และสถานศึกษา ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 พบว่า มีเกษตรกรมาขอรับบริการ 11,343 ราย ตัวอย่างทุเรียนส่งตรวจ จำนวน 13,895 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 10,533 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 75.80 ไม่ผ่านเกณฑ์ 3,355 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 24.20 ไม่สรุปผล 7 ตัวอย่าง เนื่องจากเป็นตัวอย่างนอกเหนือจาก 4 พันธุ์ที่มีการกำหนดเกณฑ์ ส่วนพันธุ์ที่มีการส่งตรวจสูงที่สุดคือ หมอนทอง 11,931 ตัวอย่าง รองลงมาคือ กระดุม 951 ตัวอย่าง ชะนี 750 ตัวอย่าง และพวงมณี 256 ตัวอย่าง

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานบริหารจัดการไม้ผลภาคตะวันออกในปีนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าผลผลิตจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้ง แต่จากการส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตไม้ผลคุณภาพตั้งแต่ระดับสวน การคุมเข้มมาตรการตรวจก่อนตัด ขอความร่วมมือจากเกษตรกรและนักคัดนักตัดทุเรียนไม่ตัดทุเรียนอ่อนจำหน่าย การผลิตไม้ผลให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะไม้ผลส่งออกไปยังประเทศจีนที่มีข้อกำหนดว่าจะต้องผ่านการรับรองสวนด้วยมาตรฐาน GAP ผลผลิตต้องมีคุณภาพ มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ทำให้ราคาจำหน่ายทุเรียนภายในประเทศช่วงต้นฤดูสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และราคาส่งออกทุเรียนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นอกจากนี้ จากการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพก่อนส่งออกโดยกรมวิชาการเกษตรในปีนี้ยังพบว่ามีจำนวนลดลงจากเดิมร้อยละ 4 เหลือเพียงร้อยละ 2 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะนำโมเดลการบริหารจัดการไม้ผลภาคตะวันออกนี้ส่งต่อไปยังภาคใต้ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ และจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมเข้มการใช้มาตรการต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับทุเรียนไทยและผลไม้คุณภาพต่อไป