นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 คณะนักวิชาการด้านอารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าร่วมการประชุมสรุปผลการดำเนินการความร่วมมือตามโครงการระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม (Regional Participatory Implementation of Integrated Pest Management System) ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperative Special Fund) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท สาธารณรัฐประชาชนจีน (Ministry of Agriculture and Rural Affairs: MARA) ณ Plant Protection Station of Guangxi Zhuang Autonomous Region เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้แทนฝ่ายจีน ประกอบด้วย Mrs. Liu Hui ผู้แทนกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท และเจ้าหน้าที่ของ Plant Protection Station โดยในที่ประชุมได้นำเสนอผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง และเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน มีบุคคลเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานด้านการอารักพืช จาก 5 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา โดยดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาองค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านอารักพืช ผ่านวิธีการประชุมทางวิชาการ การอบรมวิทยากรกระบวนการแบบมีส่วนร่วม การศึกษาดูงาน การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืช และการติดตามผลส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานในประเทศสมาชิก
“การดำเนินการโครงการดังกล่าว ทางฝ่ายจีนได้แสดงความชื่นชมเป็นอย่างมาก เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรของทั้ง 5 ประเทศสมาชิก ทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนางานด้านอารักพืชอย่างแท้จริง โดยใช้กระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านอารักพืช และเจ้าหน้าที่แต่ละประเทศจะนำความรู้ไปถ่ายทอดแบบมีส่วนร่วมของชุมชนให้กับเกษตรกรต่อไป นอกจากนี้ ทางฝ่ายจีนยังมีความสนใจที่จะขยายผลโครงการในลักษณะดังกล่าวแบบทวิภาคีร่วมกับฝ่ายไทย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้นำข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการดำเนินการโครงการในอนาคตต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
นอกจากนี้ ทางคณะได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสารเคมีทางการเกษตรของ Plant Protection Station of Guangxi Zhuang Autonomous Region ซึ่งได้รับการสนับสนุนกล้องจุลทรรศน์จากทางโครงการที่ประเทศไทยจัดส่งไปให้ จำนวน 2 เครื่อง โดยสถานีดังกล่าว นอกจากมีภารกิจในการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืชแล้ว ยังมีภารกิจในการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตสินค้าเกษตรจากร้านค้าในท้องตลาด บริษัท และจากโรงงานผู้ผลิต เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ มีแผนดำเนินการ 200 ตัวอย่างต่อปี รวมทั้งการสุ่มตรวจปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่สามารถมีได้ ตามค่ามาตรฐาน MRLs (Maximum Residue Limits) ในพืชผัก-ผลไม้ รวมไปถึงสินค้าเกษตรอื่น ๆ เพื่อให้อยู่ในระดับปลอดภัยต่อผู้บริโภค และศึกษาดูงานการผลิตแตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่าเพื่อควบคุมศัตรูพืช ณ บริษัท Guangxi Nanning Heyi Biological Control จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐในส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ (Service Provider) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชโดยใช้แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่าให้กับเกษตรกรแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่กระบวนการสำรวจพื้นที่ การวาดแปลงดิจิทัลเพื่อกำหนดจุดพิกัดสำหรับการใช้โดรนปล่อยลูกบอลที่บรรจุไข่หนอนผีเสื้อข้าวสารซึ่งแตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่าได้เบียนแล้ว (Trichogramma Ball) จนถึงกระบวนการประเมินผลการควบคุมแมลงศัตรูพืชให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับนวัตกรรมลูกบอลแตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่า (Trichogramma Ball) เป็นนวัตกรรมที่ทางบริษัทคิดค้นขึ้น เพื่อความสะดวกในการใช้โดรนบินและปล่อยลงในแปลง ช่วยทดแทนแรงงานคน ที่แต่เดิมต้องใช้คนเดินนำแผ่นบรรจุหนอนผีเสื้อข้าวสารที่เบียนแล้วไปเสียบไว้ตามต้นพืชในแปลง ซึ่งวัสดุที่ใช้ผลิตลูกบอลสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Biodegradable) ใช้เวลาผลิตทั้งกระบวนการ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม – มีนาคม (รวมช่วงเลี้ยงหนอนผีเสื้อข้าวสาร) โดยพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะใช้ประมาณ 12-13 ลูก จึงจะเพียงพอสำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชในแปลง ผลจากการใช้แตนเบียนพบว่า มีอัตราการเบียนสำเร็จโดยเฉลี่ยในพื้นที่นาข้าวมากกว่าร้อยละ 80 และพื้นที่ไร่อ้อยมากกว่า ร้อยละ 85 ซึ่งปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมคือ การปล่อยให้ถูกเวลา และในปริมาณที่เพียงพอ สำหรับการให้บริการเกษตรกร บริษัทได้รับรองประสิทธิผลของการใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชโดยใช้แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่าแก่เกษตรกร หากไม่สามารถจัดการศัตรูพืชได้จริง จะให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
“จากการประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงเกษตรจีน ทำให้ได้รับทราบว่า ในพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ก็ประสบปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชเช่นเดียวกัน แต่ทางการท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา โดยร่วมกับภาคเอกชน และภาคเกษตรกรในการควบคุมกำจัดโดยใช้วิธีการแบบผสมผสาน (IPM) เห็นได้จากการมีหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ และมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่พร้อมเข้าควบคุมสถานการณ์การระบาดทันทีที่ได้รับการประสานงาน ทำให้สามารถควบคุมการระบาดของศัตรูพืชได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต และรายได้ของเกษตรกร ซึ่งความสำเร็จดังกล่าว จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำมาพัฒนาแนวทางในการบริหารจัดการศัตรูพืชในประเทศไทยต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย