กระทรวงวัฒนธรรมขับเคลื่อน Soft Power ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดที่เป็นเมืองรองหรือเมืองน่าเที่ยว นำร่องภูมิภาคละ 1-2 จังหวัด กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้พบปะหารือกับนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ซึ่งได้รับฟังข้อมูลยุทธศาสตร์ ภารกิจ โครงการและกิจกรรมที่สำคัญในภาพรวมของวธ. ซึ่งวธ.มีทุนทางวัฒนธรรมและภารกิจมากมายที่ดำเนินการขับเคลื่อนครอบคลุม Soft Power อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เทศกาล (เฟสติวัล) ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่นเกือบทุกสาขา จะต้องผลักดันและประสานงานกับคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและหน่วยงานต่างๆนับเป็นภารกิจที่ท้าทาย จึงขอให้ผู้บริหารวธ.ทุกหน่วยงานของวธ.ร่วมมือกันขับเคลื่อน Soft Power และนำ Soft Power มาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจังหวัดที่เป็นเมืองหรือเมืองน่าเที่ยว ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในจังหวัดที่มีรายได้ยังไม่สูงนัก เพื่อกระจายรายได้จากเมืองหลักสู่ภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาลเพราะแต่ละจังหวัดมีทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ เช่น อาหาร ผ้าไทย งานเทศกาลประเพณี แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทั่วทั้งประเทศไม่เหมือนกัน

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า อยากเห็นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เช่น อาหาร ผ้าไทย แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมชัดเจนใน 5 ภูมิภาค วธ.อาจจะเลือกนำร่องภูมิภาคละ 1-2 จังหวัด เพื่อให้เห็นว่าสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และอยากให้วธ.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยแต่ละภูมิภาค จัดประกวดให้นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ช่วยเสนอความคิดเห็นในการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มากมายในพื้นที่มาโปรโมทให้มีความทันสมัยแต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของท้องถิ่นไว้เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติให้มาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชิมอาหารท้องถิ่นและซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนภายในจังหวัด ช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนและจังหวัดเพื่อกระจายได้รายได้สู่ภูมิภาค กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

“ประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมมากมาย เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ผ้าไทย อาหาร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เมื่อพัฒนาและต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ก็สามารถส่งต่อไปให้กับหลายกระทรวงเพื่อช่วยขับเคลื่อนต่อไป อย่างอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่ลงพื้นที่ไปชมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีการพัฒนาด้วยการนำไลท์แอนด์ซาวด์มาส่งเสริมการเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืน และมองว่าจะต้องพัฒนาด้านสาธารณูปโภคเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เช่น ถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวมากขึ้น เมื่อดำเนินการแล้วก็ส่งต่อให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยสร้างรายได้แก่ประชาชนแต่ละภูมิภาค พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว