กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลก ปี 2567 เน้นย้ำให้ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอพร้อมทั้งสามารถแปลผลค่าความดันโลหิตของตนเองได้ หากป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยการรับประทานยาลดความดันโลหิตตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ควรหยุดยาเอง เผยประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7 ล้านคน ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ในระยะยาว จะส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด และโรคไตวายเรื้อรัง ก่อให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้
วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) ในปี 2567 นี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer : วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว” มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้อง สามารถแปลผลความดันโลหิตได้ และทราบวิธีปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ และไม่ได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นอาจมีอาการแสดงต่างๆ ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ตาพร่ามัว เป็นลมหมดสติ และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด และโรคไตเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ ดังนั้นประชาชนควรวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท คือ เริ่มสูง ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษาถ้าเกิน 160/100 มิลลิเมตรปรอท คือ สูงมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และถ้าเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท สูงถึงขีดอันตรายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน จากระบบรายงานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ภาพรวมของประเทศ ปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566) พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7 ล้านคน และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา แต่ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ มีจำนวนมากถึง 2.8 ล้านคน การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควบคุมได้ด้วยการใช้ยาลดความดันโลหิตร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดี และสามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะสามารถหยุดยาได้ตามแพทย์เห็นสมควร การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ทำได้โดยการลดน้ำหนักสำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน ค่าดัชนีมวลกายไม่ควรเกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หลีกเลี่ยงอาหาร รสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง ประชาชนทั่วไปจำกัดโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และผู้ป่วยไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายสะสมอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3-5 วัน
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า การวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองที่บ้าน ควรวัดต่อเนื่องอย่างน้อย 7 วัน ช่วงเช้าหลังตื่นนอนและปัสสาวะแล้ว 2 ครั้งติดกัน ห่างกันครั้งละ 1 นาที ควรวัดก่อนรับประทานอาหารเช้า และยังไม่ได้รับประทานยาลดความดันโลหิต (ถ้ามี) ช่วงเย็นควรวัดก่อนเข้านอน 2 ครั้งติดกัน ห่างกันครั้งละ 1 นาที วิธีการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง ควรนั่งบนเก้าอี้หลังพิงพนักและหลังตรงเท้าทั้ง 2 ข้างวางราบกับพื้น ไม่ไขว่ห้าง และวัดความดันโลหิตหลังจากนั่งพักอย่างน้อย 2 นาที วางแขนไว้บนโต๊ะเรียบ ให้ Arm cuff อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ ขณะวัดความดันโลหิตไม่เกร็งแขน ไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว ไม่ดื่มชาหรือกาแฟ และไม่สูบบุหรี่ก่อนทำการวัดความดันโลหิตอย่างน้อย 30 นาที สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเข้ารับการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422