ภาคเกษตรจีนจัดการศัตรูพืชโดยวิธี IPM และเสริมประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีพันธุ์พืชและอากาศยาน วางแผนต่อยอดในไทยในอนาคต

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หลักการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน หรือ Integrated Pest Management (IPM) เป็นหลักการที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ Food and Agriculture Organization (FAO) แนะนำและสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกได้นำไปปรับใช้ โดยในประเทศไทยดำเนินการมานานมากกว่า 20 ปี ทำให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้บริหารจัดการศัตรูพืชเป็นอย่างดี และมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศอื่น ต่อมา เมื่อปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยได้เสนอโครงการระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง (Regional Participatory Implementation of Integrated Pest Management System) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation Special Fund) เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการเกษตรและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ ประกอบ จีน ไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การประชุมวิชาการโครงการระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมรูปแบบออนไลน์ 2) การอบรมวิทยากรกระบวนการ (Training of Trainer: TOT) เรื่อง การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชน 3) การศึกษาดูงานด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชน 4) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จัดทำแผนดำเนินงานส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน 5) การสนับสนุนการดำเนินการส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และ 6) การติดตามการส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ผ่านการดำเนินงานแบบส่วนร่วม

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมการติดตามการส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ผ่านการดำเนินงานแบบส่วนร่วม คณะนักวิชาการด้านอารักขาพืชของกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านอารักขาพืชของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ร่วมติดตามการดำเนินงานในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2567 ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยมีกิจกรรมศึกษาดูงาน ประชุมแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และหารือความร่วมมือด้านอารักขาพืชร่วมกัน สำหรับจุดศึกษาดูงานของหน่วยงานรัฐและเอกชน ประกอบด้วย

1) ศูนย์สาธิตและรวบรวมพันธุ์พืชแห่งชาติ เมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นที่รวบรวมพันธุ์พืชผักกว่า 1,450 สายพันธุ์บนพื้นที่ 9 เฮคแตร์ (ประมาณ 56.25 ไร่) เน้นการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) อาทิ การใช้กับดักกาวเหนียว การทำเขตกรรม การใช้กับดักแสงไฟ การใช้สารเคมีในระดับปลอดภัย การจัดการระบบการให้น้ำและการให้ปุ๋ย เพื่อให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน GAP ของประเทศจีน

2) บริษัท Guangxi SPR Technology จำกัด เมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ รับรอง และขึ้นทะเบียนสารเคมีทางการเกษตรของประเทศจีน โดยบริษัทดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO จึงสามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการตรวจรับรองได้

3) บริษัท Guangxi Kehong Pest Control จำกัด เมืองลิ่วโจว ทั้งที่โกดังเก็บเครื่องมือจัดการศัตรูพืช และสำนักงานใหญ่ ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ให้บริการ (Service Provider)ในการฉีดพ่นสารเคมีทางการเกษตรให้กับเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐ สามารถดำเนินการได้ทั้งทางภาคพื้นดิน และภาคอากาศ ซึ่งมีบริการโดรน และเฮลิคอปเตอร์สำหรับฉีดพ่น กรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน จะทำหน้าที่เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการควบคุมกำจัดศัตรูพืชตามที่ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกร

“แนวทางการบริหารจัดการศัตรูพืชของประเทศจีนมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง มีจุดเด่นในเรื่องการนำเทคโนโลยีด้านพันธุ์พืชพันธุ์ดีมาใช้ โดยรวบรวมและสาธิตให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาดูงานและนำไปปรับใช้ในไร่นาของตนเอง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอากาศยาน ทั้งแบบไร้คนขับและมีคนขับมาใช้ในการควบคุมการระบาดของศัตรูพืช ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ องค์ความรู้ดังกล่าว สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้วางแผนดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป”