วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่โครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ในพื้นที่ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยมี ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยผู้บริหารในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวบ้านแหลมและบ้านบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งสร้างผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนและวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่แนวชายฝั่งทะเล ตนยอมรับว่า ปัญหานี้มีความละเอียดอ่อน การดำเนินการต้องรอบคอบคำนึงถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องมองถึงการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นขณะปัจจุบัน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งต้องยั่งยืน อีกทั้งตนได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมมอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ดังนั้น ต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นรูปแบบและสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมเผยแพร่ความรู้ให้แก่ภาคประชาชน องค์กร ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศ ผ่านการระดมความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และสถาบันที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ทำให้ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวมีความถูกต้องและสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างบูรณาการ ใช้เป็นกรอบในการดำเนินการวางแผนการตัดสินใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลต่อไป
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการปักไม้ไผ่ในพื้นที่หาดโคลนเพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของคลื่นและดักตะกอนตามกระบวนการทางธรรมชาติ ได้ดำเนินงานตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ได้แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบดังกล่าวรวมทั้งสิ้นจำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ระนอง และกระบี่ จำนวน 56 พื้นที่ รวมระยะทางแนวไม้ไผ่ ประมาณ 112 กิโลเมตร นอกจากการบรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้แก่ประชาชนในพื้นที่หาดโคลนแล้ว ยังได้เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 300 ไร่
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งภาคกลางตอนล่างอันมีพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวชายฝั่งรวม 402.80 กิโลเมตร เป็นพื้นที่หาดโคลน 109.82 กิโลเมตร พื้นที่หาดโคลนที่ประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งมี 62.07 กิโลเมตร แก้ไขสำเร็จแล้ว 56.57 กิโลเมตร โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นหาดโคลนระยะทางรวมประมาณ 36.73 กิโลเมตร และจากการสำรวจพื้นที่หาดโคลนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พบว่ามีระยะทางประมาณ 580 เมตร อยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณที่จะดำเนินโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นตลอดแนวชายฝั่ง ประมาณ 31 ไร่ และเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและขายฝั่ง ได้ดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลน โดยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น พื้นที่ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ระยะทางไม้ไผ่ 800 เมตร ซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติและสอดคล้องกับมาตรการสีเขียว ที่กรม ทช. ได้กำหนดไว้และเมื่อสภาพพื้นที่จะสามารถฟื้นฟูได้ ทางกรม ทช. จะได้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนซึ่งเป็นแนวปราการป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเหมือนในอดีตเพื่อคงวิถีชีวิตชุมชนเอาไว้ และเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้คงความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อปกป้องรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ให้ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์ มีคุณค่า เป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อให้เกิดห่วงโซ่อาหาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไชด์ รวมถึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวอีกด้วย ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง วางแผนการดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะดำเนินการโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยโครงการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น ในบริเวณพื้นที่ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ต่อไป “ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี กล่าวทิ้งท้าย”