รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ติดตามนโยบาย นักท่องเที่ยวปลอดภัย เผย อำเภอหัวหิน เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวปลอดภัยด้านสาธารณสุขที่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค ระบบการดูแลรักษา การแพทย์ฉุกเฉิน ที่พัก อาหาร สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว ช่วยเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจประเทศ
วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามประเด็นสำคัญคือ นโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย (Safety Tourism) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ โรงพยาบาลหัวหิน และสถานประกอบการที่ดำเนินการตามนโยบายฯ เนื่องจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเยือนเป็นจำนวนมากตลอดทั้งปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดในจังหวัดภาคกลาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงมุ่งขับเคลื่อนนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเสริมศักยภาพภาคการท่องเที่ยวของประเทศ ตอบรับนโยบายที่จะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
นายสันติ กล่าวต่อว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ใช้อำเภอหัวหินเป็นพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้ 1.การยกระดับระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพ โดยเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Free Zone) ไม่พบรายงานโรคในคนตั้งแต่ปี 2561 และไม่พบรายงานโรคในสัตว์ตั้งแต่ปี 2565 และได้ผลักดันการประเมินรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 3 อำเภอ ได้แก่ หัวหิน บางสะพาน และทับสะแก 2.ยกระดับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบสาธารณสุขฉุกเฉิน โดยทำงานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินสังกัดโรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิต่างๆ, ระบบส่งต่อรักษา ที่มีการแบ่งเป็นเครือข่าย โซนเหนือมีโรงพยาบาลหัวหินเป็นแม่ข่าย และโซนใต้มีโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์เป็นแม่ข่าย ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ลดการส่งต่อระยะทางไกล รวมทั้งยังมีความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ ทำงานเป็นเครือข่ายแบบไร้รอยต่อ ช่วยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับบริการที่ศักยภาพและเกิดความมั่นใจ 3.ยกระดับเรื่องที่พักและอาหารปลอดภัย มีอาหารริมบาทวิถี (SAN Plus Street Food Good Health) ระดับดีขึ้นไป 2 แห่ง คือ ถนนคนเดินเมืองประจวบฯ และตลาดลงเลสามร้อยยอด มีสถานที่จำหน่ายอาหาร SAN Plus (CFGT+) 5 แห่ง SAN (CFGT) ระดับพื้นฐาน 80 แห่ง, ทุกอำเภอมีร้านเมนูชูสุขภาพรวม 51 ร้าน 155 เมนู, โรงแรมประเภท 4 ที่ผ่านมาตรฐาน GHH 100% 4แห่ง, โรงแรมประเภท 2,3,4 ผ่านมาตรฐาน GHH 34แห่ง, มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว GREEN Health Attraction ที่ วนอุทยานหาดวนกร อำเภอทับสะแก และน้ำประปาในที่พักที่กิน ที่เที่ยว ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำทางด้านแบคทีเรียครบ 100% และมาตรการที่ 4.จัดตั้งหรือยกระดับศูนย์เวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel Medical Center: TMC) ระดับพื้นฐาน ทั้งนี้ จากข้อมูลภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวสะสม 11,143,079 คน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 10,656,168 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 486,911 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยวสะสมในปี 2566 ทั้งสิ้น 44,241ล้านบาท