วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) จัดประชุมรับฟังความเห็นของนวัตกรน้ำชุมชนพื้นที่ตัวอย่าง (best practice) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการจัดทำร่างนโยบาย “สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เพื่ออนาคตประเทศไทย : Hydro-informatics for Future Thailand” ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. พร้อมด้วย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. เปิดเวทีและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกับเครือข่ายชุมชน เครือข่ายสภาเกษตรกร เครือข่ายศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ นวัตกรน้ำในพื้นที่ นักวิจัยมหาวิทยาลัย รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้ามากระตุ้นเป็นประเด็นสำคัญทั้งในระดับชุมชนและประเทศ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการค้าในประเด็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งน้ำมีมิติที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากน้ำไม่พอและน้ำท่วมเช่นกัน ในการทำงานที่ผ่านมา สอวช. ในฐานะหน่วยงานนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำเชิงระบบ รวมทั้งในเรื่องเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology) เพราะเห็นว่าการดำเนินการจะบรรลุเป้าหมายสำเร็จได้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งเทคโนโลยีนั้นมีทั้งที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง (Advance Technology) และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) การนำประเด็นเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาร่วมกับการบริหารจัดการน้ำในระดับชุมชน และชุมชนสามารถบริหารจัดการได้จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทั้งในมิติน้ำและมิติความสามารถและการต่อยอด ซึ่งนำไปสู่ภาพใหญ่อย่างประเทศให้มีความเข้มแข็งต่อไป ทั้งนี้ ประเด็นของการได้มาของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ การผสมผสานกับบริบทเชิงพื้นที่และผู้ใช้งาน การทำให้เป็นระบบที่ยั่งยืนมีระบบนิเวศที่สนับสนุน (Ecosystem) และสามารถพัฒนาจากกระบวนการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีนี้ไปได้ด้วยตัวเองเพื่อต่อยอดและการบำรุงรักษา (Maintenance) ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึง จึงเป็นที่มาของการจัดทำร่างนโยบายฯ ร่วมกับ สสน. ในครั้งนี้ ที่จะช่วยผสานระดับการบริหารจัดการน้ำของบน กลางและล่าง โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อม และใช้บทบาทของทั้ง 2 หน่วยงานเข้ามาเป็นหลักในการทำงาน
การประชุมรับฟังความเห็นฯ ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการและเป็นข้อมูลสำคัญที่สนับสนุนการจัดทำร่างนโยบาย “สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เพื่ออนาคตประเทศไทย : Hydro-informatics for Future Thailand” การรับฟังความเห็นฯ มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ร่างนโยบายฯ ที่ออกแบบ เข้าใจ เข้าถึงและสอดรับการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมในพื้นที่อย่างแท้จริง ผ่านการระดมความเห็นจากนวัตกรน้ำชุมชนพื้นที่ตัวอย่าง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จากการทำงานของ สสน. ร่วมกับภาคีที่ผ่านมา ขอขอบคุณ สสน. ที่เข้ามาร่วมมือ ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันที่จะทำให้นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำเข้มแข็งและเป็นฐานที่แข็งแรงของการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศต่อไป
ดร.รอยบุญ กล่าวว่า การประชุมรับฟังความเห็นฯ ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการรับรู้ในกระบวนการจัดทำร่างนโยบายสารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่เพื่ออนาคตประเทศไทย และเป็นการระดมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างนโยบายฯ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ อย่างแท้จริง สสน. จึงร่วมกับ สอวช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนงานด้านนโยบายของกระทรวง อว. จัดประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนี้ เพื่อจัดทำร่างนโยบายฯ ที่จะผลักดันให้เกิดการใช้นวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ สร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนที่เป็นฐานสู่การจัดการทรัพยากรน้ำในระดับจังหวัด ภาค และประเทศ อย่างยั่งยืน
ภายในงานได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สารสนเทศและนวัตกรรมจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จากตัวอย่างความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด/ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดลำพูน ศูนย์บริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำตรัง เทศบาลเมืองทุ่งสง เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามภูมิสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายท้องถิ่นจัดการน้ำชุมชนกว๊านพะเยา ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ชุมชนป่าภูถ้ำ จังหวัดขอนแก่น ระบบเตือนภัยพิบัติระดับชุมชน ประกอบด้วย เครือข่ายลุ่มน้ำน่าน เครือข่ายลุ่มน้ำปัตตานี และเครือข่ายความร่วมมือ จากสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และมหาวิทยาลัย ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งความเห็นที่ได้ทั้งหมดจะถูกนำมาจัดทำร่างนโยบายฯ เพื่อนำเสนอสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ต่อไป