วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วยนายยงยุทธ นาควิโรจน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ําบาดาล นางพบพร เศรษฐพฤกษา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตาม 4 โครงการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน
โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะที่ 1) ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่เป็นชุมชนเมือง มีการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว ทำให้ทรัพยากรน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ เทศบาลตำบลบ้านกลางต้องขนน้ำไปแจกจ่ายแก้ประชาชน และพบปัญหาคุณภาพน้ำบาดาล พบฟลูออไรด์ น้ำแดง มีกลิ่นสนิม หลังจากได้รับการสนับสนุนโครงการฯ มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 4,300 ครัวเรือน หรือประมาณ 8,800 คน
โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (พื้นที่ 60 ไร่) บ้านท่ามะโอ ตำบลสองแคว อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิก 14 ราย พื้นที่เกษตร 65 ไร่ ปลูกพืชหลัก ได้แก่ ลำไย มะม่วง ข้าว และพืชผักสวนครัว ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำมีการแบ่งพื้นที่จ่ายน้ำตามวัน และตกลงจัดเก็บค่าน้ำที่อัตราหน่วยละ 30 บาทต่อไร่ต่อครั้ง
โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ บ้านน้ำดิบสามัคคี ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิก 382 ราย พื้นที่เกษตร 624 ไร่ ปลูกพืชหลัก ได้แก่ ลำไย มะม่วง ข้าวโพด และพืชผักสวนครัว ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำมีการบริหารจัดการโครงการเป็นอย่างดี ทำให้ อบต.ข่วงเปา ได้รับรางวัล “เครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น” ประเภทกลุ่มชุมชนผู้ใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ต้นแบบดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ทั้งนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้สำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะที่ 3) ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งแต่เดิม 17 หมู่บ้านในพื้นที่ประสบปัญหาคุณภาพน้ำประปามีสารละลายคาร์บอเนต และแมงกานีสเกินเกณฑ์มาตรฐาน หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการฯ มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 3,900 ราย ครอบคลุม 6 หมู่บ้าน