พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พบว่ามีความรุนแรงในฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามัน โดยเกิดการฟอกขาวแล้วมากกว่า 50% ของพื้นที่แนวปะการังฝั่งอ่าวไทย เช่น พื้นที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะคราม จังหวัดชุมพร สำหรับในฝั่งอันดามันพบการฟอกขาว ไม่เกิน 20% ของพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เกิดในบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 2 เมตร เช่น เกาะรอก จ.ตรัง ส่วนใหญ่จะพบว่าปะการังมีสีซีด ซึ่งเป็นผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ จากปัญหาที่เกิดขึ้น ตนในฐานะผู้นำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
โดยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ตนพร้อมด้วยร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ปะการังฟอกขาว จากการรายงานสถานการณ์ปะการังฟอกขาวเบื้องต้นทราบว่า ขณะนี้มหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (SST) และมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทยในช่วงระหว่างเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2567 โดยระดับความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดภัยคุกคามจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง การทิ้งขยะลงในทะเล รวมถึงการจัดทำแนวทางการป้องกันปะการังฟอกขาวให้หน่วยงานในพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวให้แก่เครือข่ายอนุรักษ์ปะการัง กลุ่มนักดำน้ำ นักท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ หากพบเห็นการเกิดปะการังฟอกขาว สามารถแจ้งข่าวสารผ่านเว็บไซต์ https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/th เพื่อทุกฝ่ายจะได้เตรียมพร้อมรับมือและลงพื้นที่ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิดต่อไป
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะเดียวกันสถานการณ์ปะการังฟอกขาวเริ่มมีความรุนเเรงจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะแนวปะการังพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ชุมพร และกระบี่ อันเป็นสัญญาณบ่งชี้ของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือที่เรียกกันว่า โลกเดือด เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้นปะการังที่มีความอ่อนไหวมากๆ ก็จะเกิดการฟอกขาว เพราะสาหร่าย “ซูแซนเทลลี” จะอพยพออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง เพื่อแสวงหาสภาพแวดล้อมใหม่ให้มีชีวิตรอด ทำให้ปะการังสูญเสียแหล่งอาหารสำคัญ และเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ปะการังฟอกขาว เช่น การปล่อยน้ำบำบัดหรือสารเคมีต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่ทะเล น้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมากส่งผลต่อสภาพความเค็มของน้ำทะเล ดังนั้น จึงขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนให้ช่วยกันลดปัจจัยที่จะเพิ่มความเครียดให้กับปะการัง เช่น การใช้ครีมกันแดดที่ไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อปะการัง การไม่ทิ้งขยะในแนวปะการัง และไม่ปล่อยน้ำเสียลงในทะเล อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาปิดจุดดำน้ำบางแห่งที่พบปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมาก และให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พยายามช่วยชีวิตปะการังโดยดำเนินการตามหลักวิชาการ เช่น การลดปริมาณแสงโดยการใช้วัสดุปิดบังแสงในแนวปะการังน้ำตื้น และการย้ายปะการังบางชนิดลงไปในระดับน้ำที่ลึกมากขึ้น และที่มีอุณหภูมิน้ำต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ปะการังได้พักฟื้นกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์ดังเดิมอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ไปยังเกาะไม้ท่อน เพื่อสำรวจและทดลองปลูกปะการัง ตามวิธีการฟื้นฟูปะการัง และร่วมปลูกปะการังจำนวน 25 กิ่ง ซึ่งได้จากการแตกหักจากแรงปะทะของคลื่นลมรุนแรงตามธรรมชาติ พร้อมทั้งดำน้ำชมแนวปะการังธรรมชาติและพื้นที่ฟูแนวปะการัง บริเวณเกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต โดยพบปะการังในบริเวณน้ำตื้นมีสีซีดประมาณ 20% ในส่วนที่มีความลึกกว่า 5 เมตร พบปะการังสภาพปกติไม่มีการฟอกขาว