วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมพัฒนาครูผู้สอนคนพิการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการ รุ่นที่ 2 โดยมี นางณัฐกฤตา พึ่งสุข ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดอบรมดังกล่าว และนางบุษบา ณะแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรในสังกัด เข้าร่วมพิธี ณ โรงแรมแก้ว สมุย รีสอร์ท อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 มาตรา 12 (6) คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนพิการ ส่งเสริมสนับสนุน ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างบูรณาการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูการศึกษาพิเศษ ครู และคณาจารย์ให้มีองค์ความรู้ การศึกษาต่อเนื่อง และทักษะในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ รวมถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มาตรา 16 (9) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ต้อง ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะของ บุคลากรซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้และแนะแนวการเรียนรู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาได้ สอดคล้องกับมาตรา 16 (4) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ต้องจัด ส่งเสริม และสนับสนุน การเรียนการสอน สภาพแวดล้อม ตลอดจนเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดเพื่อให้คนพิการ หรือบุคคลซึ่งมีความต้องการจำเป็นพิเศษ สามารถเรียนรู้ได้โดยสะดวกและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกประเภทได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเกินสมควร
ดังนั้น ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรครูผู้สอนคนพิการ ดำเนินงานเสนอของบประมาณ เข้าครม.เพื่อพัฒนาครูผู้สอนคนพิการในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ จำนวน 308 แห่ง มีครูผู้สอนคนพิการทั้งสิ้น 548 คน ได้บรรจุเป็นพนักงานราชการแล้ว จำนวน 53 คน จ้างเหมาบริการ จำนวน 495 คน จึงจัดให้มีการอบรมพัฒนาครูผู้สอนคนพิการให้เป็นครูมืออาชีพในการสอนคนพิการ เนื่องจากบุคลากรดังกล่าวไม่มีวุฒิการศึกษาพิเศษ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูผู้สอนคนพิการ มีความรู้ ความเข้าใจและทักษะพื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติงานได้ และสามารถจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป