วันที่ 30 เมษายน 2567 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ผู้อำนวยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กรมสอบสวนคดีพิเศษ กับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนสอบสวน การกระทำผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ และการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์โดยมี พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน และร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรวีร์ ไวยวุฒิ และนางสาวจุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมลงนามเป็นพยาน
กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวนและสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และความจำเป็นที่จะต้องใช้กระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน และตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม โดยที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้เคยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และทั้งสองหน่วยงานได้ปฏิบัติงานร่วมกันในหลายภารกิจ ทั้งการร่วมปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม การจัดเก็บพยานหลักฐาน และการสนับสนุนด้านการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ รวมถึงความร่วมมือในทางวิชาการโดยการจัดฝึกอบรม และสัมมนาร่วมกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพัฒนาขีดความสามารถ ในการปฏิบัติงานของบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวได้สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2566 ดังนั้น เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องจึงเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านต่าง ๆ ทั้งการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน การสนับสนุนข้อมูล การศึกษาวิจัย การเสริมสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมต่าง ๆ การพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรม และกิจกรรมต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในงานสืบสวน การสอบสวนคดีพิเศษ และการพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การอำนวยความยุติธรรมและการดำเนินคดีพิเศษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และบรรลุเป้าหมายในการอำนวยความยุติธรรม สร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขในสังคม อันเป็นภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งของกระทรวงยุติธรรมต่อไป