อย. จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาหลักเกณฑ์การคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ร่วมกับคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการทำงานเชิงรุกมุ่งเพิ่มรายการยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาจากสมุนไพรอย่างสมเหตุผล พัฒนาแนวทางการคัดเลือกยา เช่น ยาสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยประคับประคองในสถานชีวาภิบาล และส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุข หวังให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงยาสมุนไพรได้สะดวกและทั่วถึง
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวาณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาหลักเกณฑ์การคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2567 และได้ร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อย. กับเป้าหมายในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน” โดยมี รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และคณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ ผู้เสนอยาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้สั่งใช้ยา และกองทุนหลักประกันสุขภาพ เข้าร่วมการประชุมเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงและใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ให้ประชาชนได้ใช้ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน หวังอนาคตสามารถใช้ทรัพยากรที่มีในประเทศ เป็นทางเลือกให้ประชาชนเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันมีรายการยาจากสมุนไพรได้รับการประกาศในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 116 รายการ ครอบคลุมกลุ่มโรคและกลุ่มอาการ 15 กลุ่ม เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาฟ้าทะลายโจร และยังมีรายการยาจากสมุนไพรอีก 9 รายการรอประกาศเพิ่มเติม เช่น ยาบำรุงน้ำนม ยาทาพระเส้น ยาพริกความแรง 0.075% บรรเทาอาการปวดเหตุจากพยาธิสภาพประสาทส่วนปลาย โดยยาจากสมุนไพรดังกล่าวเป็นยาที่ถูกเลือกใช้เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน
เลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำว่า อย. มุ่งมั่นดำเนินการคัดเลือกรายการยาจากสมุนไพร เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้าบนพื้นฐานการทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย รับฟังความคิดเห็นและความคาดหวังจากผู้เสนอยา กองทุนหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน และผู้สั่งใช้ยา เพื่อหาโอกาสและความท้าทายในการขับเคลื่อนบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร
อย. ให้ความสำคัญต่อการมุ่งคัดเลือกยาจากสมุนไพรที่มีความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพ มีความปลอดภัย มีสรรพคุณหรือข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน และมีหลักประกันคุณภาพมาตรฐานให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาจากสมุนไพรถ้วนหน้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ตลอดจนการบรรเทาความทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม