เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายการจัดทำหลักสูตรและคู่มือการแนะแนวและการให้คำปรึกษา การพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู สกร. ด้านการแนะแนว (Coaching) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในสังกัด สกร. ให้มีทักษะ ความรู้ด้านการแนะแนวและให้คำปรึกษา รวมทั้งการจัดทำระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และการประกอบอาชีพ โดยมี นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย พร้อมด้วยคณะอาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิวงศ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมสาขาจิตเวช สถาบันฯ สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ผู้บริหารหน่วยงาน สถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรม ไมด้า งามวงศ์วาน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
นายธนากร ดอนเหนือ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนแนวทางการจัดการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) เพื่อลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง ว่าด้วยการจัดและส่งเสริมให้มีระบบการแนะแนว (Coaching) และเป้าหมายชีวิต และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ตามมาตราที่ 9 ที่กำหนดให้มีระบบแนะแนวการเรียนและการประกอบอาชีพ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนทุกระดับให้มีทักษะที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยมีหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความสนใจและความต้องการของผู้เรียน และการที่ผู้เรียนรู้จักตนเองค้นพบแนวทางการเรียน และเป้าหมายชีวิตที่ตนเองชอบนั้น การแนะแนวการศึกษาและอาชีพนับเป็นพื้นฐานสําคัญของชีวิต เพราะความสําเร็จของบุคคล เกิดขึ้นจากการวางแผนชีวิตที่ดี การประสบความสําเร็จในการประกอบอาชีพและการดําเนินชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ทําให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า สามารถรู้จักตนเองด้านการศึกษาและอาชีพ เกิดหลักการในการดําเนินชีวิตรู้จักตั้งเป้าหมายของตนเอง สามารถปรับตัวเขากับสภาวะแวดล้อมได้ มีชีวิตอย่างเป็นสุขในสิ่งที่ตนและสังคมปรารถนา และฝากถึงครู สกร.ในพื้นที่ต้องติดตามและเข้าถึงชุมชน ที่เป็นมากกว่าการเยี่ยมบ้าน แบบเยี่ยมชุมชนร้อยเปอร์เซนต์ เพื่อใกล้ชิดปัญหาและสร้างความไว้วางใจ โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลประวัติผู้เรียน นำมาสู่ในการวางแผนการดำเนินงาน และกำหนดเป้าหมายของผู้เรียน ตามความถนัดและความสนใจไปจนถึงการประกอบอาชีพต่อไป
นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล กล่าวว่า การวางกรอบในการขับเคลื่อนงานนำไปสู่การปฏิบัติ งานแนะแนวของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู สกร. ด้านการแนะแนว (Coaching) และให้คำปรึกษา เพื่อนำไปใช้ศึกษาอบรมครู สกร. และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายงานด้านการแนะแนว ใน สกร.ทุกจังหวัดทั่วประเทศและการนำไปใช้ก่อนนำไปแนะแนวรวมถึงบทบาทของสถานศึกษา และเพื่อตอบโจทย์ในการส่งเสริม พัฒนาบุคลากรในสังกัดให้เป็นนักจัดการเรียนรู้ที่มีทักษะ ความรู้ความเข้าใจ ด้านการแนะแนว สามารถแนะแนวกลุ่มเป้าหมายและผู้เรียนได้ รวมทั้งการจัดทำระบบแนะแนวที่มีคุณภาพ ไปสู่การจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนและกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ตามศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคลที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้เรียนค้นหาศักยภาพของตนเองตามความพร้อม และกำหนดเป้าหมายชีวิตตามความถนัดและความสนใจ
นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากข้อมูลระบบสารสนเทศ สกร. พบว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 – 2566 เป็นต้นมา ผู้เรียนในสังกัด สกร.หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เมื่อจำแนกตามอายุ ในภาพรวมทั่วประเทศแล้ว พบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีช่วงอายุน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยอายุผู้เรียนเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 15-19 ปี มากที่สุด จำนวน 1,585,630 คน คิดเป็นร้อยละ 35 ในขณะที่ช่วงอายุ 25-29 ปี คิดเป็นร้อยละ 10 มีเพียง 477,787 คน และอายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวน 134,148 คน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าอะไร? คือปัจจัยที่ทำให้ผู้เรียน สกร.มีช่วงวัยที่อายุน้อยลง และเป็นวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่หรือวัยแรงงานมากกว่าร้อยละ 65 สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างชัดเจน ที่สำคัญสิ่งที่ต้องทบทวนว่านอกเหนือจากผู้เรียนที่พลาดและขาดโอกาสทางการศึกษาในชีวิตแล้ว เหตุและปัจจัยอะไรทำไมผู้เรียนในช่วงวัยนี้จึงหลุดออกจากห้องเรียนในระบบมากขึ้น
ชีวิตในสังคมปัจจุบันมีเปลี่ยนแปลงและความผันผวนมากมายที่เกี่ยวกับวัตถุและจิตใจ ปัญหาของชีวิตจึงสลับซับซ้อน เริ่มตั้งแต่บ้าน สถานศึกษา ทําให้เกิดการยอมรับว่าการแนะแนวมีความจำเป็นมากในสังคม การแนะแนวจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้บุคคลที่ได้รับบริการสามารถเข้าใจตนเองและเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดในชีวิตได้ตามความต้องการและความสามารถของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจทางการเรียนและอาชีพที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญระหว่างการเรียนกับเป้าหมายในอนาคต ส่งเสริมแรงจูงใจในการเรียน และช่วยในการจัดการกับความเครียดและความกังวลเกี่ยวกับการเรียนและอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมทั้งการพัฒนาทักษะที่จำเป็น การแนะแนวจึงไม่เพียงช่วยในเรื่องการเรียนรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังช่วยในการพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาทักษะและสมรรถนะครู สกร. ด้านการแนะแนว (Coaching) และให้คำปรึกษา เพื่อให้ครูสามารถแนะแนวจัดกิจกรรมและเตรียมความพร้อมสู่เป้าหมายชีวิตของผู้เรียน เพราะส่งผลทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและมีทิศทางเพื่อการวางแผนชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป