ปศุสัตว์อุดรธานี จับมือ ซีพีเอฟ และบริษัทเวชภัณฑ์ ซ้อมแผนเตรียมพร้อมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ร่วมป้องกัน ASF

จังหวัดอุดรธานี ร่วมมือ ซีพีเอฟ อบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สร้างภูมิคุ้มกันโรค ASF ในสุกร นับเป็นจังหวัดที่ 14 ของภาคอีสาน มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมอบรม 170 คนอย่างคึกคัก

จากนโยบายการเตรียมพร้อมและรับมือโรค ASF ในสุกรที่กำลังเป็นวาระแห่งชาติขณะนี้ ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานีร่วมกับ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็มเอสดี แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งเสริมความรู้เรื่องโรค ASF ในสุกร ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยในจังหวัดอุดรธานี เพื่อร่วมป้องกัน เฝ้าระวัง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายจากโรค ASF ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม เรื่อง เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร กล่าวว่า การจัดอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรเจ้าของฟาร์มขนาดเล็กตื่นตัว ตระหนักถึงผลกระทบของโรคและร่วมกันเฝ้าระวังรวมถึงเตรียมความพร้อมในการป้องกันอย่างเข้มแข็ง

“จังหวัดอุดรธานีได้ติดตามสถานการณ์และประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกันโรคระบาดอย่างเต็มที่ เนื่องจากจังหวัดอุดรธานีมีเขตพื้นที่ติดกับจังหวัดชายแดน จึงถือเป็นด่านหน้าป้องกันโรคชั้นที่สองที่จะป้องกันโรคไม่ให้เข้าไปสู่จังหวัดอื่นๆ” นายสิธิชัย กล่าว

น.สพ.พนธ์สมิทธิ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานีได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรเฝ้าระวังป้องกันโรค และร่วมมือกับ ซีพีเอฟ ในการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และแนะนำการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อการป้องกันโรคของฟาร์ม จาก บริษัท เอ็มเอสดี แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องโรค รู้วิธีป้องกันไม่ตื่นตระหนก และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคว่าการผลิตเนื้อหมูในอุดรธานี รวมถึงภาคอีสานปลอดภัยได้มาตรฐาน

นอกจากการอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยแล้ว วันนี้ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานียังได้จัดโครงการซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF ในสุกรไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ฝึกปฏิบัติร่วมกับเกษตรกร ตั้งแต่การแจ้งข่าวสาร จนถึงมาตรการต่างๆ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือโรค ASF และหยุดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

“ขอย้ำว่าโรค ASF ในสุกร เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน และขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบการระบาดของโรคในประเทศ หากพบสุกรแสดงอาการป่วยคล้ายโรคระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดอุดรธานี กรมปศุสัตว์ DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”น.สพ.พนธ์สมิทธิ์ กล่าว

นายธีระพงษ์ สมบัติหลาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหลายจังหวัดที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยเกิดให้ความสนใจและตื่นตัวกับโรคนี้เป็นอย่างมาก ส่งผลดีทั้งในด้านการให้ความรู้เพื่อช่วยกันป้องกันโรค ASF และยังช่วยให้ทราบถึงข้อมูลสำคัญการเลี้ยง เช่น จำนวนตัว พิกัด ของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันและเตรียมพร้อมในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที

เพื่อประสิทธิผลในการป้องโรค ในการอบรมครั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้มีการมอบน้ำยาฆ่าเชื้อให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั้ง 20 อำเภอในเขตจังหวัดอุดรธานีพร้อมกันด้วย./