กรมควบคุมโรค แนะกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็ก ดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดช่วงอากาศร้อน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนระวังป่วยจากภาวะอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก แนะนำเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ในช่วงที่มีอากาศร้อน ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี มีสีอ่อน หลวม น้ำหนักเบา ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ควรพักในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก และสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการ หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็วให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด หากไม่ดีขึ้นควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

วันที่ 29 เมษายน 2567 นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยในหลายพื้นที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยจากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนที่ทำงานในที่แจ้ง คนงานก่อสร้าง หรือคนงานในเหมืองหิน ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก อากาศร้อนจะส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะโรคลมร้อน หรือ ฮีตสโตรก (Heatstroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับอุณหภูมิภายในร่างกายได้ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว อาการ คือ ตัวร้อน วิงเวียน ปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ภาวะขาดน้ำ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง เป็นลม อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น พูดจาสับสน และชักได้ หากพบผู้เริ่มมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น และให้ดื่มน้ำมากๆ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวมใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และให้รีบนำส่โรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669
“นอกจากอาการทางกายแล้ว การทำงานในที่มีอากาศร้อนจัดจะทำให้เสียสมาธิ ส่งผลให้สมรรถนะในการทำงานที่ต้องใช้ความชำนาญลดลง มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนั้น คนแข็งแรงทั่วไปจะมีปฏิกิริยาในร่างกายที่ทำให้ทนต่อความร้อนได้ระดับหนึ่ง แต่ในกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก คนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต หรือในคนอ้วน จะมีความทนต่อความร้อนได้น้อยกว่า” นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ สามารถป้องกันฮีตสโตรกได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมทั้งเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ โดยควรปฏิบัติดังนี้

  1. ลดหรือเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ในช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดของวัน (โดยเฉพาะช่วงเวลา 11.00 -15.00 น. จะมีอากาศร้อนที่สุด)
  2. ดื่มน้ำในระหว่างวันอย่างน้อย 2-4 แก้ว/ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอกระหายน้ำ
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
  4. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีมีสีอ่อน หลวม น้ำหนักเบา
  5. ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ควรพักในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  6. สังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการ หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็วให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด พาเข้าไปพักในที่เย็น มีอากาศถ่ายเทสะดวก หากมีอาการรุนแรง หรือหมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422