นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหากรณีน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลเข้าพื้นที่ทำการประมงและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อาศัยในคลองหลักและคลองย่อย พี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะรายที่ไม่มีบ่อพักน้ำและมีความจำเป็นต้องสูบน้ำจากคลองเติมลงบ่อเพื่อชดเชยการระเหยของน้ำในช่วงฤดูร้อน โดยได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งสำรวจความเสียหายด้านประมงและดำเนินการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน จากวิกฤติดังกล่าว กรมประมงจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Task force) เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านการประมงกรณีน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลเข้าพื้นที่ทำการประมงและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ขึ้นทันที เพื่อเร่งสำรวจและรวบรวมจำนวนและรายละเอียดของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดมาตรการ แนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ และฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จากการสำรวจพบว่า เกษตรกรภาคการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราได้รับผลกระทบทั้งหมด 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง, บ้านโพธิ์ และบางปะกง ในขณะที่จังหวัดสมุทรปราการได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ คือ อำเภอบางบ่อ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2567) โดยกรมประมงได้จัดทีมนักวิชาการลงพื้นที่ทันทีเพื่อให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำ รวมถึงติดตามคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง มีการแจกจ่ายจุลินทรีย์สำหรับบำบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยงให้กับเกษตรกร รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตจุลินทรีย์ ปม.1 จำนวน 25,000 ซอง และหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.2 กว่า 700 ลิตร เพื่อนำไปขยายสำหรับใช้บำบัดน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่กว่า 28,000 ไร่ พร้อมประสานและจัดหาแหล่งรับซื้อผลผลิตสัตว์น้ำในกรณีที่เกษตรกรมีความจำเป็นต้องจับผลผลิตเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนที่แสดงความต้องการใช้น้ำเพื่อการประมงในลำคลองสายต่าง ๆ จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และอ้างอิงตามจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งมีการระบุค่าปริมาณออกซิเจนในน้ำ (DO) และค่าความเค็มที่เหมาะสมต่อการประมงเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาใช้เปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจในการนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงได้แบบ Real time อีกด้วย และสำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบกรมประมงขอแนะนำแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
กรณีน้ำเค็มเข้าบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้
1. ตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำเป็นระยะ
สัตว์น้ำจืดโดยทั่วไปไม่สามารถทนการเปลี่ยนแปลงความเค็มอย่างเฉียบพลันได้ ในขณะที่ปลากะพงขาวสามารถทนความเค็มได้ในช่วงกว้างตั้งแต่น้ำจืดถึงน้ำทะเล อย่างไรก็ตามไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มน้ำอย่างฉับพลันที่ระดับมากกว่า 5 ppt ได้ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงค่าความเค็มอย่างรวดเร็วให้เติมน้ำจืดเพื่อลดความเค็ม งดนำน้ำที่มีความเค็มสูงจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่บ่อเลี้ยง ให้ใช้น้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบหมุนเวียนภายในฟาร์ม ควบคุมคุณภาพน้ำและระดับน้ำในบ่อเลี้ยงให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำที่ใช้เลี้ยง
2. เติมอากาศอย่างเพียงพอต่อความต้องการของสัตว์น้ำ
การเติมอากาศในเวลากลางวันช่วงฤดูร้อน มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการแบ่งชั้นของน้ำที่ทำให้สัตว์น้ำเกิดความเครียดและมีความต้องการออกซิเจนมากขึ้น ควรเปิดเครื่องเติมอากาศโดยตีน้ำรอบต่ำเพื่อผสมมวลน้ำ ไม่ควรตีน้ำรอบสูงจนฟุ้งกระจายเพราะจะเร่งการระเหยของน้ำ โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายหรือเพิ่มปริมาณน้ำได้ ควรเริ่มตีน้ำตั้งแต่ 10.00 – 11.00 น. หรือก่อนเกิดการแบ่งชั้นอุณภูมิน้ำ และเพิ่มรอบการตีน้ำตั้งแต่ 22.00 น. เป็นต้นไปจนถึงช่วงเช้า ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาการตีน้ำขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำและปริมาณออกซิเจนในน้ำ (DO) ควรมีชุด Test kit สำหรับตรวจค่า DO เพื่อให้การจัดการคุณภาพน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ DO ในรอบวันไม่ควรต่ำกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร
3. ควบคุมปริมาณอาหารสัตว์น้ำ
เมื่อบ่อเลี้ยงอยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสมและมีทรัพยากรน้ำที่จำกัด ควรลดปริมาณการให้อาหารลงร้อยละ 30 – 50 รวมถึงควรงดอาหารเมื่ออุณหภูมิสูงมาก มีฝนตกหนัก หรือคุณภาพน้ำไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยง
4. จัดการของเสียเมื่อน้ำในบ่อเลี้ยงลดลงแต่ของเสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เพิ่มการให้อากาศเพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ หากมีการตายของพืชน้ำให้เก็บรวบรวมออกจากบ่อให้ได้มากที่สุด บ่อที่มีการรวมตะกอนเลนให้ดูดตะกอนของเสียออกจากระบบการเลี้ยง กรณีมีบ่อพักน้ำให้ทำการหมุนเวียนเพื่อบำบัดสารอินทรีย์และนำน้ำกลับเข้าสู่ระบบการเลี้ยง และใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น ปม.1, ปม.2 (ค่า DO ตลอดทั้งวันไม่ควรต่ำกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร) กรณีที่มีปัญหาปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอให้ใช้จุลินทรีย์ กลุ่มแลคติดแอซิดแบคทีเรีย หรือ EM หรือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (จุลินทรีย์น้ำแดง) รวมทั้งการเติมปูนขาวหรือปูนร้อน 10 กิโลกรัมต่อไร่ในเวลากลางคืน เพื่อปรับสภาพน้ำให้เหมาะสม ทั้งนี้ การเติมปูนร้อนหรือปูนขาวในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำควรค่อย ๆ ละลายปูนในถังซึ่งมีท่อต่อลงในบ่อ เทหน้าใบพัดตีน้ำ หากไม่มีเครื่องตีน้ำให้ใช้ปูนขาวละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ
5. จัดการสุขภาพสัตว์น้ำ เป็นการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยมี 2 สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ
1) เพิ่มภูมิคุ้มกันให้สัตว์น้ำ โดยเฉพาะในภาวะที่สัตว์น้ำมีความเครียด โดยการเสริมด้วยวิตามินโดยใช้ตามวิธีที่ระบุในฉลาก หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพื่อป้องกันโรค และควรเลือกใช้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม โดยควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมายกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ
2) สังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติของสัตว์น้ำ เช่น การลอยหัวเกาะขอบบ่อ การกินอาหารลดลง การว่ายน้ำผิดปกติ มีแผลหรือตกเลือดบริเวณลำตัว ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบและพิจารณาจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดตลาด ออกขายเพื่อลดความเสี่ยง
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ภายหลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ กรมประมงมีแผนในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำพื้นถิ่นเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศในพื้นที่ สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดและสามารถติดต่อขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของกรมประมงในพื้นที่ เพื่อตรวจติดตามคุณภาพน้ำก่อนนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำมีคุณภาพเหมาะสมกับการเลี้ยง โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา เบอร์โทรศัพท์ 0 3851 1852, 09 8550 3343, 06 5504 5055 และสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ เบอร์โทรศัพท์ 0 2173 0229, 08 1150 0210 และติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำแบบ Real time ผ่านแผนที่ติดตามคุณภาพน้ำคลองประเวศบุรีรมย์โดย Scan QR code ด้านล่าง หรือทางเว็บไซต์ https://www.thaiwater.net/report-salinity