วันที่ 24 เมษายน 2567 สำนักงานสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมนำเสนอผลการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบการประเมิน BCG สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
ดร.ศรวณีย์ กล่าวถึงภารกิจของ สอวช. ที่เป็นหน่วยงานด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มุ่งเน้นสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในสาขาต่าง ๆ รวมถึงการปลดล็อกเชิงระบบที่จะทำให้การพัฒนานวัตกรรมมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เช่น การส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company การปลดล็อกหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากนี้ สอวช. ยังมีบทบาทเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่เป็นการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับนานาชาติในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกลไกที่ สอวช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี
“จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เราเห็นว่าประเด็นเรื่อง Net Zero Emissions ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มลงมือทำ ในแง่ห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะ Green supply chain ที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมหรือการหารือร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีความมุ่งหมายอยากให้ห่วงโซ่อุปทานมีการปรับตัว เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องมีเครื่องมือหรือตัวชี้วัดเข้ามาช่วยทำให้เกิดการปรับตัวได้ เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น สิ่งที่ได้จากงานในครั้งนี้จึงช่วยเกิดประโยชน์กับการพัฒนาเชิงระบบของประเทศต่อไป” ดร.ศรวณีย์ กล่าว
ในงานได้มีการนำเสนอเครื่องมือตัวชี้วัด BCG เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจ MSME ไปสู่ความยั่งยืน โดย ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move และ Co-manager เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (Sustainable Development Solutions Network: SDSN Thailand)
ผศ.ชล กล่าวถึงภาพรวมของโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ ศึกษาและออกแบบแนวทางการนําเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG มาประยุกต์ใช้ในระบบการประเมิน เพื่อนําไปสู่เครื่องมือทางการเงิน สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ และกฎระเบียบด้านมาตรฐานต่าง ๆ หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเสนอแนะหน่วยงานที่มีศักยภาพในการนําเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG ไปประยุกต์ใช้ และสร้างการยอมรับเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากการดำเนินการพัฒนาตัวชี้วัดร่วมกันระหว่าง สอวช. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ SDG Move ได้เป็นมิติของตัวชี้วัด BCG แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่ 1. Sustainability management: หน่วยงานมีการจัดการความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี 2. Value Chain: หน่วยงานมีการผนวกแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับ Bio, Circular and Green Economy เข้าไปในห่วงโซ่คุณค่าของหน่วยงานตลอด Life Cycle ของสินค้าบริการ 3. Governance: หน่วยงานมีระบบ กลไก นโยบาย ยุทธศาสตร์และการจัดการภายในอื่น ๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG 4. Innovation: หน่วยงานมีการใช้และพัฒนานวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ซึ่งแนวทางการนําเครื่องมือและหลักเกณฑ์การประเมิน BCG ไปใช้ แบ่งเป็น 1. Self-assessment: ใช้เพื่อการประเมินตนเองของบริษัท 2. Self-Declaration: เป็นวิธีการรับรองมาตรฐานที่อาศัยการดำเนินการภายในของหน่วยงานเจ้าของเกณฑ์ และ 3. Inspection Body และ Certification Body: ควรเป็นการดําเนินงานในระยะหลังจากที่เจ้าของเกณฑ์มีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ระบบการสนับสนุน MSME ภายใต้ภาวะโลกเดือด” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ ดร.เพชรมณี ดาวเวียง รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs สสว. ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.พีรพร พละพลีวัลย์ เลขาธิการเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP) และ ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) ดำเนินรายการโดย ดร.ชนิดา แสนสะอาด ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. โดยในวงเสวนาได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์โลก ความท้าทายการของทำธุรกิจในยุคโลกเดือด การดำเนินการด้านมาตรการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการ MSME ในการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยได้ อาทิ การสนับสนุนในการสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้ประกอบการ การสนับสนุนในการจัดฝึกอบรม บ่มเพาะผู้ประกอบการ การเข้าถึงตลาด การสนับสนุนด้านการเงิน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไปจนถึงการช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
Website: www.nxpo.or.th / Facebook: https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND/