กรมวิทย์ฯ ยืนยันพบเชื้อไวรัสโรตาและไวรัสโนโร สาเหตุอุจจาระร่วงสงกรานต์อุโมงค์น้ำสุพรรณบุรี เตรียมทดสอบสายพันธุ์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนและควบคุมการระบาด

วันที่ 24 เมษายน 2567 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากเหตุการณ์การระบาดของโรคอุจจาระร่วงเป็นกลุ่มก้อนจากงานสงกรานต์อุโมงค์น้ำที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งพบผู้ป่วยช่วงอายุ 2 – 14 ปี มีอาการอาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว ปวดท้อง มีไข้ ถ่ายมีเลือดปน อ่อนเพลีย บางรายมีอาการผื่นคันตามตัวหลังจากเล่นอุโมงค์น้ำ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำการสอบสวนโรค เก็บตัวอย่างอาหารและน้ำ เพื่อส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้วยเทคนิค Multiplex Real-time PCR ซึ่งสามารถตรวจหาเชื้อก่อโรคกลุ่มอาการอุจจาระร่วงได้พร้อมกัน 19 ชนิด ผลการตรวจตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วยทั้งหมด 19 ราย พบผลบวกเชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) ทุกราย นอกจากนี้ มี 14 รายจาก 19 รายนี้ พบผลบวกเชื้อไวรัสโรตาร่วมกับไวรัสโนโร (Norovirus) ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานแจ้งผลตรวจยืนยันไปยังกรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรีแล้ว เพื่อขยายผลการเฝ้าระวังการระบาด ลดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วงต่อไป

นายแพทย์ยงยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไวรัสโรตา และไวรัสโนโร มักพบเป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาการและลักษณะอุจจาระไม่ได้มีลักษณะจำเพาะ จึงต้องอาศัยการตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกจากการติดเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วงอื่นๆ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้ออาจปนเปื้อนมากับมือ สิ่งของ เครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ รวมทั้งอาหารและน้ำ ซึ่งเหตุการณ์ระบาดครั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อตรวจหาสาเหตุ หรือแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคดังกล่าวด้วย ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อยู่ระหว่างดำเนินการทดสอบตัวอย่างน้ำทางห้องปฏิบัติการ และจะทดสอบสายพันธุ์ไวรัสที่เป็นสาเหตุของการระบาดในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนหรือมาตรการป้องกันอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรือน้ำแข็งที่ไม่สะอาด ใช้น้ำยา 0.5% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือน้ำยาซักผ้าขาว(เจือจาง 10 เท่า) ในการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งของ เป็นต้น