นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิน้ำสูงขึ้นเอื้อต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อแบคทีเรีย Vibrio spp. หลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ Vibrio parahaemolyticus ที่สร้างสารพิษได้ (VpAHPND) ก่อให้เกิดโรคตับวายเฉียบพลัน หรือ โรคกุ้งตายด่วน (AHPND/EMS) ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงต่อผลผลิตของกุ้งทะเล
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรค ได้แก่ อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น การให้อาหารปริมาณมาก คุณภาพน้ำไม่เหมาะสมอาจส่งผลให้เกิดแพลงก์ตอนบลูม ปริมาณแอมโมเนียและไนไตรท์ในน้ำสูง กุ้งเครียดและอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันลดลง มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้ ส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อในกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำระยะโพสลาวา (PL) ช่วงอายุ 30 – 35 วันหลังปล่อยกุ้งลงบ่อดิน ลักษณะของกุ้งที่ป่วยเป็นโรคตับวายเฉียบพลัน จะเกิดการฝ่อและตายของท่อตับและตับอ่อน บางครั้งมองเห็นเป็นขีดสีดำบริเวณตับและตับอ่อนในกุ้ง ลำไส้ไม่มีอาหาร เปลือกกุ้งนิ่ม กุ้งโตช้า ว่ายน้ำเฉื่อยโรคตับวายเฉียบพลันในกุ้งสามารถติดต่อได้ทางน้ำและการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมทั้งการกินกันเองของกุ้ง
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงและป้องกันความเสียหายจากโรคนี้ในช่วงฤดูร้อน ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง ดังนี้
1. เมื่อพบกุ้งที่มีอาการผิดปกติหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่ หรือ แจ้งผ่านระบบการรายงานสัตว์น้ำป่วย กพส.สร.1 ตาม QR-code ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าฟาร์มเก็บตัวอย่างกุ้ง ส่งตรวจหาสาเหตุของโรคและให้คำแนะนำในเบื้องต้น
2. ไม่เคลื่อนย้ายกุ้งชุดที่มีการตายผิดปกติออกจากบ่อเลี้ยงและฟาร์ม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
3. ไม่ถ่ายน้ำจากบ่อที่มีกุ้งตายผิดปกติออกสู่ภายนอกฟาร์มในขณะที่รอผลการตรวจ กรณีได้รับผลตรวจยืนยันว่ากุ้งป่วยจากโรคนี้ ต้องฆ่าเชื้อในน้ำโดยใช้คลอรีน ปริมาณ 200 กรัม ต่อน้ำ 1 ตัน (200 PPM) แช่ทิ้งไว้อย่างน้อย 24 – 48 ชั่วโมง เพื่อมั่นใจว่าไม่มีคลอรีนเหลืออยู่ ก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม
4. ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในบ่อที่มีการตายของกุ้งด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีนปริมาณ 200 กรัม ต่อน้ำ 1 ตัน (200 PPM) แช่ทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที แล้วล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า
อธิบดีฯ กล่าวเน้นย้ำในตอนท้าย ว่าเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ควรหมั่นสังเกตและดูแลกุ้งอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ควบคุมการให้ปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม หรืออาจผสมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเช่น วิตามินซี เบตากลูเคน จุลินทรีย์โพรไบโอติก ฯลฯ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมประมง เพื่อเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้กับกุ้ง อย่างไรก็ตามหากพบกุ้งป่วยหรือมีอาการผิดปกติ หรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด หรือ ศูนย์วิจัยฯ สัตว์น้ำของกรมประมงในพื้นที่ หรือ กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 4122