วันที่ 23 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ เพื่อส่งเสริมอาชีพด้าน Social Commerce” ณ โรงแรมทีเค พาเลช แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นายกันตพงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการดูแลให้คนพิการ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ภายใต้หลักการ “พม. พอใจ ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.” ซึ่งเป็นแนวททางการขับเคลื่อนงานที่สำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และพันธกรณีระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดูแลคนพิการทั้งประเทศ ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ เช่น ทางด้านการศึกษา ด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น รวมทั้งการจัดสวัสดิการให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการส่งเสริมอาชีพให้แก่คนพิการ เพื่อให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการมีจำนวนกว่า 2.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 3.39 ของประชากรทั่วประเทศ ทั้งนี้ คนพิการในช่วงอายุที่อยู่ในวัยแรงงาน มีจำนวนถึง 863,195 คน หรือร้อยละ 38.53 ดังนั้น พก. จึงได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงาน ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 2) การค้นหาคนพิการ เพื่อขึ้นทะเบียนคนพิการให้ได้รับสิทธิสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด และ 3) การลดการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยการส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการมากขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ การสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ พก. ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการเตรียมความพร้อมคนพิการเพื่อรองรับตลาดแรงงาน หรือเข้าสู่ระบบการจ้างงาน การสร้างอาชีพทางเลือกสำหรับคนพิการ การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อการต่อยอด อาชีพในการสร้างรายได้เพิ่ม และการสนับสนุนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพของคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ โดยให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ สามารถประกอบอาชีพได้
“พก. มีความมั่นใจว่า การขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ ใน 3 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น สามารถส่งเสริมให้คนพิการและครอบครัวคนพิการ มีอาชีพ มีรายได้ ที่เป็นรูปธรรม ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายและองค์กรที่มีความรู้ความสามารถ จะทำให้คนพิการและครอบครัวคนพิการ อยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ในครั้งนี้ถือได้ว่า เป็นการเตรียมความพร้อมคนพิการ เพื่อส่งเสริมอาชีพ ด้านดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ สร้างโอกาส ให้คนพิการได้แสดงศักยภาพและความสามารถให้สังคมได้รับรู้ ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณคณะวิทยากรจาก บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด ที่ได้มาให้ความรู้และถ่ายทอด เทคนิคในการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมฯ” นายกันตพงศ์ กล่าวในตอนท้าย