คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เห็นชอบมาตรการป้องกันเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สนับสนุนการเข้าถึงถุงยางอนามัยโดยไม่ต้องยืนยันตัวตน ตรวจคัดกรองเอชไอวีเชิงรุก พร้อมเร่งสื่อสารสร้างความตระหนักรู้การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ มุ่งเป้ายุติเอดส์ภายในปี 2573
วันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ (คช.ปอ.) ครั้งที่ 1/2567 และกล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส ที่พบอัตราป่วยในปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปี 2561 (จาก 11 เป็น 28.1 ต่อประชากรแสนคน) และเพิ่มขึ้น 3 เท่าในกลุ่มเยาวชน (จาก 27.9 เป็น 91.2 ต่อประชากรแสนคน) สาเหตุหลักมาจากการไม่ใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จึงต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกิดความตระหนักในการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้เสนอนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนงานเชิงรุก เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีมติเห็นชอบในหลักการ 3 เรื่อง คือ
1. ให้หน่วยงานด้านการศึกษาทุกสังกัดร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่าย และองค์กรภาคประชาสังคม เร่งรัดสื่อสารให้ความรู้เรื่องเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมต้น
2. ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน เช่น สถานศึกษา สถานประกอบการ สนับสนุนให้ทุกหน่วยงานมีจุดกระจายถุงยางอนามัยฟรี และให้มีชุดบริการป้องกันแบบรอบด้าน ได้แก่ การให้ข้อมูลด้านสุขภาพ สนับสนุนถุงยางอนามัย ยาป้องกันก่อนและหลังสัมผัสเชื้อเอชไอวีจัดบริการฮอร์โมน ตรวจคัดกรองและรักษา เอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาและดูแล รักษาสุขภาพจิต โดย สปสช. สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ โดยไม่ต้องยืนยันตัวตนเป็นรายบุคคล รวมถึงสนับสนุนเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน ตลอดจนเครือข่ายเยาวชนอื่น ๆ จัดกิจกรรมเรื่องการป้องกันเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แก่เพื่อนเยาวชน
3. ให้กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. จัดให้มีบริการตรวจคัดกรองเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เชิงรุกในประชาชน และจัดให้มีระบบบริการประชาชน ที่ต้องการใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง รวมถึงจัดให้มีจุดบริการที่เป็นมิตรสำหรับประชาชนในทุกจังหวัด และมอบหมายกรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำชุดบริการรอบด้าน พร้อมส่งเสริมให้มีการจัดบริการในทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ครอบคลุมทุกพื้นที่
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเดินหน้าร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานป้องกัน ตรวจคัดกรองเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงบริการประชาชนทุกคน ให้ได้รับบริการด้านการป้องกัน ดูแลรักษาที่มีมาตรฐานและปลอดภัย อย่างเท่าเทียมโดยปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การยุติเอดส์ภายในปี 2573