“หวั่นอีสานกลางขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สำนักงานชลประทานที่ 6 เร่งวางมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้มีน้ำกินน้ำใช้จนถึงฤดูแล้งหน้า”

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า จากสถิติฝนที่ตกในช่วงเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติถึง 30-40 % ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและแหล่งน้ำธรรมชาติไม่มากนัก ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณกักเก็บต่ำกว่า 30 % ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้งปี 62/63 สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้เชิญการประปาส่วนภูมิภาคและภาคอุตสาหกรรม ผู้ขอใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานตามมาตรา 5 และมาตรา 8 ในเขตความรับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัดในภาคอีสานกลางกว่า 88 แห่งมาหารือเพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำและวางมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งจากการรายงานพบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 69 แห่งในภาพรวมมีน้ำดิบเพียงพอที่จะผลิตน้ำประปาได้ตลอดฤดูแล้งปี 62/63 แต่มีเพียง 7 อ่างฯที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง อยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ 1 แห่ง จังหวัดมหาสารคาม 2 แห่ง จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 แห่ง และจังหวัดร้อยเอ็ด 1 แห่ง ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาโดยการเติมน้ำเข้าอ่างฯ จากแหล่งน้ำใกล้เคียง การบูรณาการกับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคก็มีแผนในการเจาะบ่อบาดาลช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนด้วย

สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำของภาคอีสานกลาง ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 990 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 260 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุรวม ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุรวม และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 1,006 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 85 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุรวม มีแผนการเพาะปลูกประมาณ 2.3 ล้านไร่ ปัจจุบันทำการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 2.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ  จากการคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ในเดือนกันยายนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติประมาณ 220-300 มม. ซึ่งหากฝนตกตามคาดการณ์จะส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น น้ำที่มีอยู่ในอ่างฯ ขณะนี้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อสำรองไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ให้ความช่วยเหลือและเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงมาโดยตลอด อาทิเช่นการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนมหาสารคามและเขื่อนร้อยเอ็ดเติมลงในแม่น้ำชี เพื่อให้สถานีสูบน้ำเพื่อการประปาที่อยู่ตลอดสองฝั่งลำน้ำชีไปจนถึงจ.อุบลราชธานี นำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และที่สำคัญยังได้นำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกเปิดทางน้ำ ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ส่งผลให้ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีดีขึ้น จึงได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวลงตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี และหากเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำคงเหลือ 400 ล้าน ลบ.ม. จะหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภค ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ได้นำเครื่องสูบน้ำจำนวน 22 เครื่องเข้าไปติดตั้งในจุดที่คาดว่าจะเกิดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำจากการหยุดส่งน้ำของเขื่อนลำปาว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องเกษตรกรที่รับน้ำจากเขื่อนลำปาว

อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงฤดูแล้งหน้า ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน กรมชลประทานพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที