วันที่ 21 เมษายน 2567 เวลา 07.00 น. พระเทพวชิรโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป งาน “ใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” โดยมีนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงาน ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมกว่า 20 หน่วยงาน จัดงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี และพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ที่ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความผาสุกและความเจริญสืบมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความสามัคคีและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยร่วมกัน ช่วยสนับสนุนสินค้าของชุมชนต่างๆ สร้างรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2567 โดยจัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป วันที่ 21 เมษายน 2567 ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” เป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม ในปีพุทธศักราช 2311 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี โดยกำหนดเขตทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้แม่น้ำผ่านกลางพระนคร วัดโพธารามตั้งอยู่ในเขตกำแพงพระนครฝั่งตะวันออก จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และมีพระราชาคณะปกครองตลอดสมัยกรุงธนบุรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธารามขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นอื่นๆ และสร้างถาวรวัตถุ แล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มาประดิษฐานบริเวณพระอุโบสถ พระวิหารทิศ และพระระเบียง ฯลฯ และพระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส
ปีพุทธศักราช 2375 – 2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ สิ่งใดชำรุดทรุดโทรมมากก็รื้อสร้างใหม่ขยายรูปทรงบ้าง สร้างเพิ่มขึ้นใหม่บ้าง ส่วนกุฏิสร้างใหม่เป็นตึก และโปรดให้จารึกสรรพตำราต่างๆ 8 หมวด ลงแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามศาลารายเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า งานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2567 แบ่งเป็น 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่แรกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ มีกิจกรรม อาทิ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จบูรพกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ การแสดงเฉลิมพระเกียรติ ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในยามค่ำคืน (Night Museum) การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น โขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนพระรามราชสุริยวงศ์ การบรรเลงและขับร้องดนตรีสากล ลิเก เรื่อง วีรบุรุษแห่งสยาม โนรา ลำตัด การขับร้องเพลงโดยศิลปินอนันต์ ไมค์ทองคำ งิ้วเปลี่ยนหน้ามหัศจรรย์ มนตรา มายากล จำอวดหน้าม่าน และทุกวันมีการบรรเลงดนตรีไทย ดนตรีสากล รวมทั้งจัดตลาดย้อนยุค กรุงรัตนโกสินทร์มีการสาธิตอาหารชาววังและอาหาร 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ส่วนพื้นที่ที่สอง ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน มีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “กรุงเทพฯในความทรงจำ:พินิจวัด เวียง วัง ผ่านภาพถ่ายและภาพยนตร์” และ “ไม่บันทึกก็นึกไม่ออก : งานสมโภชพระนคร 200 ปี” กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจากโลกเสมือนต่อยอดสู่โลกความจริง การแสดงดนตรีร่วมสมัย กิจกรรมสาธิตศิลปะร่วมสมัย การแสดงมายากลร่วมสมัย นิทรรศการสงกรานต์และเทศกาลทางน้ำในอาเซียน
อีกทั้งเป็นที่น่ายินดีว่ามีพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 5 แห่งที่เข้าร่วมการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1.พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม ชมสถาปัตยกรรมศิลปะพาลลาเดียนของอาคารโรงทหารม้าที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ก่อนจะเป็นศาลาว่าการกลาโหม นิทรรศการและวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของศาลาว่าการกลาโหม สัมผัสและถ่ายรูปกับปืนใหญ่โบราณหน้าอาคาร 2.พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน นำชมวังฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อกิจการตำรวจไทยและชมความสวยงามของตำหนักจิตรลดายามค่ำคืน และกิจกรรม Work Shop ทางศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ งานตัดกระดาษ ทำตุงไส้หมู (พวงมโหตร) งานสเก็ตภาพลายเส้น สถาปัตยกรรมตำหนักจิตรลดา งานเครื่องสด อบรมการร้อยมาลัย โคมชำร่วย งานเครื่องหอมไทย อบรมการทำบุหงาในพัดโบก งานประดิษฐ์ดอกมะลิขึ้นรูป พวงมาลัยกุญแจ งานช่างศิลปะไทย อบรมการออกแบบลวดลายปูนปั้น ดนตรีในสวน “ชมวัง ฟังเพลง” และการแสดงการปฏิบัติหน้าที่ของสุนัขตำรวจ 3.พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ เปิดให้เข้าชมนิทรรศการ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ปฏิรูปเหรียญกษาปณ์ไทย” นิทรรศการพิเศษ “เหรียญแห่งศรัทธา พุทธปฏิมารัตนโกสินทร์”และนิทรรศการกว่าจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ มีทั้งรอบปกติและรอบพิเศษยามค่ำคืน 4.พิพิธบางลำพู ชมนิทรรศการถาวร นิทรรศการพิเศษ “ลำพูในบาง” และนิทรรศการ “บางลำพูไม่ลำพัง” มีทั้งรอบปกติและรอบพิเศษยามค่ำคืน กิจกรรมตามหาลายแทงขุมทรัพย์บางลำพูและ5.มิวเซียมสยาม ชมมิวเซียมสยาม ณ อาคารนิทรรศการถาวร “ถอดรหัสไทย” และร่วมกิจกรรมมองกล้องส่องประวัติศาสตร์ กิจกรรมทัวร์ใต้ดินกับภัณฑรักษ์และกิจกรรมนำชม Site Museum พิพิธภัณฑ์ใต้ดิน ณ ลานปฏิมากรรมรุ้งและMRT สนามไชย
นอกจากนี้ วธ.ยังร่วมกับวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร จัดงานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพรย้อนวันวาน สารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 – 23 เมษายน 2567 ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพฯ มีกิจกรรมไหว้พระรับพร เสริมสิริมงคล การแสดงศิลปวัฒนธรรม การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ปั่นจักรยานเที่ยววัดยามค่ำคืน” การประกวดอาหารสามศาสน์ การสาธิตภูมิปัญญาด้านอาหารและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765