กรมชลประทาน ชี้แจงประเด็นการร้องเรียนคุณภาพน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองทรายขาว จ.ตรัง ไม่สามารถนำมาใช้เพื่ออุปโภค – บริโภค เพื่อการเกษตรและเพื่อเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากมีสีแดงเป็นคราบน้ำมันและมีกลิ่นเหม็น ไม่สามารถใช้น้ำได้หลังจากสร้างเสร็จ นั้น
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า กรมชลประทานส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้ว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำ 4 จุด ตามระดับความลึก ได้แก่ 1.ระดับผิวน้ำ 2. ลึก 1 เมตรจากผิวน้ำ 3. ลีก 1.5 เมตรจากผิวน้ำ 4. น้ำที่ระบายจากท้องน้ำเข้าท่อส่งน้ำ โดยทดสอบคุณภาพน้ำเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำ 2 มาตรฐาน โดยเมื่อนำน้ำมาเทียบกับมาตรฐานน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาขององค์การอนามัยโลก พบว่าคุณภาพน้ำทั้ง 4 ตัวอย่าง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาขององค์การอนามัยโลก
ทั้งนี้ เมื่อนำไปเทียบกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำบริโภค คือ น้ำที่ใช้บริโภคทั่วไปและน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด พบว่าคุณภาพน้ำ จุดที่ 1 จุดที่ 2 และ จุดที่ 3 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำบริโภค ยกเว้นตัวอย่างน้ำจุดที่ 4 ที่ค่าความขุ่น เหล็ก และแมงกานีส ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากสารละลายต่างๆ เจือปนอยู่ในดิน และสารละลายต่างๆนั้น มีค่าความหนาแน่นสูงกว่าน้ำ ทำให้จมลงไปอยู่บริเวณกันอ่างเก็บน้ำและสงผลให้มีค่าความขุ่นของน้ำสูง ซึ่งเป็นลักษณะส่วนใหญ่ของอ่างเก็บน้ำในช่วงปีแรก ประกอบกับช่วงที่ผ่านมากองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางระบายน้ำออกทางท่อระบายน้ำเดิม (River Outlet) ยังไม่มากพอ เนื่องจากยังไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาประจำอาคาร ทำให้น้ำเสียเหล่านี้ระบายออกไม่หมด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้น้ำเป็นสีแดงและส่งกลิ่นเหม็น
ส่วนกรณีการตั้งข้อสงสัยถึงการก่อสร้างอ่างฯว่าไม่ได้มาตรฐานนั้น นายประพิศ ชี้แจงว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองทรายขาวเป็นงานจ้างเหมาควบคุมงานก่อสร้างโดยบุคลากรของกรม ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นอย่างดี อีกทั้งในกระบวนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจะมีข้อกำหนดและการตรวจสอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่คุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ก่อสร้างรวมไปถึงผลงานก่อสร้าง เพื่อให้อ่างเก็บน้ำมีความมั่นคงแข็งแรงถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และเป็นไปตามแบบรูปที่กำหนด สามารถยืนยันได้ว่าการก่อสร้างได้มาตรฐาน
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อมีการระบายน้ำออกมาทางท่อระบายน้ำเดิม (River Outtet) น้ำเสียเหล่านั้นก็จะออกมาก่อนจึงไม่ควรนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค หรือเพื่อการเกษตร หากการระบายน้ำเสียหมดไป ก็จะสามารถใช้น้ำได้ตามปกติ ซึ่งขณะนี้กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยการทยอยระบายน้ำเสียให้หมดไป โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำที่มีคุณภาพดีให้มีเพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้แต่อย่างใด โดยกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางกรมชลประทาน จะดำเนินการทดสอบคุณภาพน้ำอีกครั้งหลังระบายน้ำเสียออกแล้ว และจะรายงานผลการทดสอบให้ทราบอีกครั้ง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่วางใจว่ากรมชลประทานจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองทรายขาวให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด
*************************************
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์