กรมส่งเสริมการเกษตรกำชับเจ้าหน้าที่อัปเดตสถานการณ์ เฝ้าระวังผลกระทบด้านพืช เน้นแจ้งเตือนเกษตรกรทั่วถึง แนะวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จากเหตุสถานีสูบน้ำท่าถั่วทรุดตัว

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากเหตุทำนบดินบริเวณจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราทรุดตัว และทำให้มีน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงไหลเข้าไปปะปนกับน้ำจืดในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขานั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำชับให้เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้น ดังนี้

  1. ติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังผลกระทบด้านพืชทุกวัน โดยให้แจ้งเตือนเกษตรกรได้รับทราบค่าความเค็มของน้ำในคลอง และให้คำแนะนำแนวทางในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตร รวมทั้งการขาดแคลนน้ำจืด เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
  2. ดำเนินการจัดทำชุดข้อมูลค่าความเค็มของน้ำเป็นรายวัน พร้อมชุดองค์ความรู้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปี ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึง พร้อมใช้วิธีการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงเกษตรกรในพื้นที่ทุกราย/ครัวเรือน เพื่อให้ได้รับทราบข่าวสาร มีความเข้าใจ และสามารถขยายผลไปยังผู้อื่นได้
  3. กรณีเกิดผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจครัวเรือน ให้เร่งบันทึกความเสียหาย พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้การช่วยเหลือ/การเยียวยา ตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง และให้รายงานกรมส่งเสริมการเกษตรทราบเป็นระยะ
  4. ประเมินความเสี่ยงความเน่าเสียของน้ำในคลอง โดยเฉพาะในพื้นที่จุดอับ ซึ่งน้ำไม่สามารถระบายได้ตามแรงโน้มถ่วงของโลกเป็นระยะ และประสานแจ้งศูนย์บัญชาการเผชิญเหตุการณ์เพื่อแก้ปัญหาต่อไป และ
  5. ให้รายงานข้อมูลผลการปฏิบัติงานต่อศูนย์บัญชาการเผชิญเหตุการณ์ทุกวัน

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการรับมือกับน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร ซึ่งอาจสร้างผลกระทบและความเสียหายให้กับพื้นที่สวนกล้วยไม้ สวนไม้ผลไม้ยืนต้น และพืชอื่น ๆ ได้ โดยผลกระทบของน้ำเค็มที่มีต่อพืช เมื่อเกษตรกรนำน้ำที่มีความเค็มมารดต้นพืชจะพบว่า ปลายใบไหม้ ต้นเหี่ยวเฉา ใบเหลือง เป็นอาการขาดน้ำของพืชทั่วไป แต่หากพืชอยู่ในระยะกำลังเริ่มสร้างช่อดอกหรือผสมเกสรจะส่งผลให้ช่อดอกไม่พัฒนาต่อ ไม่เกิดการผสมเกสร ผลผลิตจะลดลงตามมา แต่หากติดผลแล้วก็จะสลัดลูกร่วงทิ้ง สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เนื่องจากพืชไม่สามารถใช้น้ำได้ตามวัฏจักรปกติตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น เมื่อใช้น้ำเค็มรดให้ต้นพืช จะมีคราบขี้เกลือสีขาวปรากฏอยู่ทั่วสวน

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำวิธีการป้องกันเพื่อรับมือเมื่อน้ำเค็มรุกสวนสำหรับเกษตรกร เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ดังนี้

  1. ติดตามสถานการณ์เตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตรอย่างใกล้ชิด
  2. ปิดประตูระบายน้ำในสวนตนเอง พร้อมสำรองน้ำและอุดรูรั่วตามแนวคันสวนโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าร่องสวน
  3. ขุดสร้างคันดินล้อมรอบสวนเพื่อป้องกันการรุกของน้ำเค็ม
  4. ลอกเลนตามร่องสวนออก เพื่อเพิ่มพื้นที่การเก็บกักน้ำและดึงน้ำจากดินชั้นล่างให้ไหลออกมาใช้ได้
  5. ดูแลการเขตกรรมในสวนตนเองอย่างใกล้ชิด ด้วยการตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดการคายน้ำ ไม่ปลูกพืชใช้น้ำมากในช่วงนี้ และใช้วัสดุคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นของหน้าดิน เช่น หญ้า ตอต้นกล้วย
  6. จัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อเก็บน้ำจืดจากแม่น้ำหรือกักเก็บน้ำธรรมชาติ หรือขุดบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้
  7. กรณีน้ำเค็มเข้าสวนแล้วให้รีบระบายน้ำเค็มออกจากแปลงปลูกให้หมด แล้วจัดหาน้ำจืดมาให้แก่ต้นไม้ผล เพื่อช่วยให้ต้นไม้ผลมีชีวิตอยู่รอดอีกทั้งยังช่วยล้างความเค็มของดินออกไปอีกด้วย
  8. กรณีเป็นต้นไม้เล็กให้ทำการพรางแสงเพื่อช่วยลดอุณหภูมิที่ผิวดินและลดการคายน้ำของพืช

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำเกษตรกรให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรแบบรายวันได้ด้วยตนเอง โดยใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจากเว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร https://www.doae.go.th/ข้อมูลสถานการณ์น้ำเค็ม/ เพื่อเตรียมการ ป้องกัน บรรเทาผลกระทบ ลดความเสียหายจากน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรของท่านได้อย่างทันท่วงที