วันที่ 14 เมษายน 2567 เวลา 13.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือโดยมี นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ร่วมติดตาม รับฟังสรุปรายงานสถานการณ์ของปัญหาพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงการเกิดของพายุลูกเห็บในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนและฤดูฝน และท่านองคมนตรียังได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานเพื่อเร่งบรรเทาปัญหาให้หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ รวมถึงได้กล่าวให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ
โดยขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการฝนหลวงและใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศในการบรรเทาปัญหาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งเป็นการเร่งกระบวนการทางธรรมชาติให้เกิดเป็นเมฆและพัฒนาตัวเป็นเม็ดฝนตกไปยังพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งด้วย รวมถึงการยับยั้งการพัฒนาตัวของกลุ่มเมฆขนาดใหญ่ที่มีโอกาสการเกิดเป็นพายุลูกเห็บ การปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศโดยใช้เทคนิคการโปรยน้ำและน้ำแข็งแห้งเพื่อระบายฝุ่นละออง ทำให้เกิดช่องว่างในชั้นบรรยากาศผกผัน ให้กระแสอากาศสามารถไหลเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคก่อเมฆ การเลี้ยงเมฆให้อ้วนเพื่อดูดซับและระบายฝุ่นละอองให้สะดวกขึ้น และสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการทำงานบูรณาการร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดเชียงใหม่ ในภารกิจการทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินเท้าไปยังพื้นที่ได้ โดยขณะนี้ทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่มีเครื่องบินใช้สำหรับปฏิบัติการฝนหลวง คือ ชนิด CASA (ขนาดเล็ก) จำนวน 5 ลำ, ชนิด CN (ขนาดกลาง) จำนวน 1 ลำ, เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำ และได้รับการสนับสนุนเครื่อง Alpha Jet จากกองทัพอากาศ จำนวน 1 ลำ จากนั้น พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่อากาศยาน พร้อมอวยพรให้ประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติงานทุกประการ
จากปัญหาที่เกิดขึ้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เร่งปฏิบัติงานให้มากขึ้นและต้องให้ทันต่อเวลาที่เกิดเหตุด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนว่าปัญหาจะต้องคลี่คลายไปในทางที่ดี และจากปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็ว ทำให้หลังจากขึ้นบินปฏิบัติการที่แม้สามารถระบายฝุ่นออกไปได้แต่ปริมาณฝุ่นที่เกิดขึ้นใหม่ได้เข้ามาแทนที่ จึงทำให้ปริมาณฝุ่นลดลงน้อยกว่าที่พี่น้องประชาชนคาดหวัง สำหรับผลการปฏิบัติการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กช่วงระหว่างวันที่ 8 มกราคม – 13 เมษายน 2567 ปฏิบัติการจำนวน 82 วัน 314 เที่ยวบิน ในบริเวณ 15 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ จ.พะเยา จ.แม่ฮ่องสอน จ.แพร่ จ.น่าน จ.สุโขทัย จ.เชียงราย จ.อุตรดิตถ์ จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิจิตร โดยเฉพาะในระหว่างวันที่ 10 – 13 เมษายน 2567 ได้ขึ้นบินปฏิบัติการทั้งสิ้น 29 เที่ยวบิน ส่งผลให้เกิดฝนตกในพื้นที่ 32 อำเภอ 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแนวโน้มลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว สำหรับการทำงานหลังจากนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ได้วางแผนเร่งการทำงานให้มากขึ้น (ในช่วงวันที่ 10 – 20 เมษายน 2567) มีเป้าหมายปฏิบัติการรวม 100 เที่ยวบิน เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ทันกับสถานการณ์ ในการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละอองอย่างเร่งด่วน และร่วมงานกับหน่วยงานความมั่นคง การจัดหาเฮลิคอปเตอร์ให้เพียงพอ เพื่อช่วยเหลือในการดับไฟป่า และขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัดรวมถึงลดการเผาในพื้นที่ต่างๆ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่ได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด งานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญต่อประชาชนให้สามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในภาวะวิกฤตได้ นับว่าเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน เพื่อบรรเทาปัญหาให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน