อย. แนะซื้อดินสอพองให้ปลอดภัย ดูฉลากภาษาไทย มีเลขจดแจ้ง

อย. แนะเลือกซื้อดินสอพองต้องดูที่มีฉลากภาษาไทย มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง เวลาใช้ต้องระวังอย่าให้เข้าบริเวณดวงตา ผิวหนังที่มีบาดแผลโดยเด็ดขาด เพราะมีคุณสมบัติเป็นด่าง อาจเกิดการระคายเคืองได้ พบผลิตภัณฑ์สงสัยไม่ปลอดภัย ไม่จดแจ้ง อย. แจ้งร้องเรียนที่สายด่วน อย. 1556

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีกรมวิทยาศาสตร์บริการได้สำรวจคุณภาพของดินสอพองโดยพบมีดินสอพองปลอมจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่าดินสอพอง ทำมาจากดินมาร์ลหรือปูนมาร์ลมาบดร่อน ผสมน้ำแล้วกรองให้สะอาด ซึ่งดินมาร์ลมีส่วนประกอบของสารแคลเซียมคาร์บอเนตมากกว่าร้อยละ 80 และมีส่วนประกอบอื่น เช่น แมกนีเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมออกไซต์ ดินสอพองเป็นวัตถุดิบนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทาผิวกายคลายร้อน แก้ผด ผื่นคัน ผสมน้ำอบเพื่อประพรมพระพุทธรูป พอกไข่เพื่อทำไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า การนำดินสอพองมาใช้ในวัตถุประสงค์ต่างกัน ต้องมีกรรมวิธีการเตรียมที่แตกต่างกัน เพื่อความปลอดภัย

สำหรับการนำมาใช้เป็นเครื่องสำอางซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของ อย. ส่วนใหญ่ใช้สารแคลเซียมคาร์บอเนตหรือผสมร่วมกับสมุนไพรหรือสารทำความสะอาด และนำไปฆ่าเชื้อก่อน โดยปัจจุบันมีการรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่มีดินสอพองจำนวน 27 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พอกผิว ผลิตภัณฑ์สบู่ และผลิตภัณฑ์ขัดผิว กรณีที่มีการตรวจพบดินสอพองปลอมจำหน่ายในท้องตลาด อย. จะดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดอย่างเข้มงวดต่อไป

ทั้งนี้ ดินสอพองเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากดินธรรมชาติ จึงมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ดังนั้น อย. ขอแนะนำการเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของดินสอพอง ต้องมีฉลากภาษาไทยแสดงชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต เดือนปีที่หมดอายุ (สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน) คำเตือน และเลขที่ใบรับจดแจ้ง

เลขาธิการฯ อย. กล่าวแนะว่า เนื่องจากดินสอพองมีคุณสมบัติเป็นด่าง หากเข้าตาและผิวหนังที่มีแผล อาจมีผลให้เกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้น ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการใช้ อย่าใช้กับบริเวณที่มีบาดแผลและบริเวณดวงตา และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าผิดกฎหมาย ไม่ปลอดภัย ขอให้แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.thหรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ