กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วมภาคีสนับสนุนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมด่านชุมชนเพิ่มความถี่เรียกตรวจ สกัดผู้มีอาการมึนเมาขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะ 7 จังหวัด ความเสี่ยงสูง
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีแผนดำเนินงานป้องกันและลดการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกำหนดวันคุมเข้ม 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 -17 เมษายน 2567 โดยใช้หัวข้อการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เพื่อให้ประชาชนเดินทางปลอดภัยไร้อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้น กรม สบส.ในฐานะหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับเครือข่ายสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย อย่างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมบทบาท อสม. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านชุมชนทำการประเมิน คัดกรองผู้มีอาการมึนเมาสุรา พร้อมบันทึกข้อมูลในระบบรายงานผลการคัดกรองผู้มีอาการมึนเมาสุราต่อที่ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ของจังหวัดให้ทราบเป็นประจำทุกวัน เพื่อวางแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงสุด (สีแดง) ได้แก่ 1.นครราชสีมา 2.ปทุมธานี 3.ขอนแก่น 4.เชียงราย 5.นครปฐม 6.ภูเก็ต และ 7.ลำปาง จะมีการกำชับให้พี่น้อง อสม.เพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจผู้ขับขี่ยานพาหนะ สกัดมิให้ผู้มีอาการมึนเมาขับขี่ยานพาหนะออกไปในพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ พี่น้อง อสม.ก็จะช่วยเฝ้าระวัง สอดส่อง และรณรงค์ประชาสัมพันธ์การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กำหนด ซึ่งพบการกระทำผิด จำนวน 496 ครั้ง ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 รองลงมา คือ การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ จำนวน 356 ครั้ง เพื่อป้องกัน และลดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือการทะเลาะวิวาทจากการเมาสุราในกลุ่มเยาวชน
ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า บทบาทของ อสม.ประจำด่านชุมชนนั้น นอกจากการร่วมตั้งด่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว อสม.ยังมีบทบาทในการคัดกรองผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มสุรา โดยใช้การสังเกตทางกายภาพ อาทิ มีอาการเดินโซเซ ตาเยิ้มแดง มีกลิ่นสุรา และประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้นด้วย 1 ในวิธีการ ดังนี้ 1. “แตะจมูกตัวเอง” ยืดแขนไปข้างหน้าแล้วชี้นิ้วออกไป จากนั้นให้งอศอกและเอานิ้วมาแตะที่ปลายจมูกโดยไม่ลืมตา หากแตะที่ปลายจมูกไม่ได้น่าจะอยู่ในภาวะเมาสุรา 2. “เดินแล้วหัน” ยืนตัวตรง เดินสลับเท้าโดยให้ส้นชิด ปลายเท้าเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า 9 ก้าว แล้วหันตัวด้วยเท้า 1 ข้าง จากนั้นเดินสลับเท้าแบบส้นชิดปลายเท้าอีก 9 ก้าว หากไม่สามารถเดินให้ส้นเท้าชิดปลายเท้าได้ต้องใช้แขนช่วยพยุงหรือล้มเซ น่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา 3. “ยืนขาเดียว” ยืนตัวตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากพื้น 15 เซนติเมตร เริ่มนับ 1000, 1001, 1002 … จนกว่าจะครบ 30 วินาที หากตัวเซวางเท้าลง เขย่ง หรือใช้แขนทรงตัว น่าจะอยู่ในสภาวะมึนเมาสุรา อสม.จะให้นั่งพักและประเมินซ้ำทุกๆ 30 นาที หากอาการไม่ดีขึ้นจะติดต่อให้ญาติมารับกลับที่พักต่อไป