พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เร่งแก้หนี้สินใน-นอกระบบ จัดโครงการมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลูกหนี้มาลงทะเบียนแก้ไขหนี้ นับพันคน

วันที่ 6 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดโครงการมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยุติธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดขึ้น ที่โรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งตั้งแต่ในช่วงเช้า มีประชาชน ลูกหนี้ ทั้งในและนอกระบบโดยเฉพาะลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามาลงทะเบียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้ นับพันคน โดยมี นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และมีนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายพลัฐ หิรัญสิริสมบัติ ผู้ตรวจราชการกรมบังคับคดี และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ประกาศไว้กับรัฐสภา ตั้งแต่วันแถลงนโยบาย ซึ่งขณะนี้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้มีส่วนสำคัญ ในการแก้ไขปัญหา ด้านการไกล่เกลี่ยหนี้สิน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และเสริมสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินข้าราชการ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งก่อนฟ้องและหลังมีคำพิพากษาคดี โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี จากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา สถาบันการเงิน ทั้งในกำกับของรัฐและเอกชน ตลอดจนส่วนราชการต่างๆ ที่มาร่วมกัน ให้คำปรึกษา และดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ ให้กับลูกหนี้รวมถึงเจ้าหนี้ โดยที่ผ่านมา การดำเนินโครงการนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากประชาชน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมวางเป้าหมายที่จะจัด โครงการให้ครบ ทุกจังหวัดและบางจังหวัด อาจจะเพิ่มรอบ มากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้การแก้ไขปัญหา มีความทั่วถึง กับประชาชน

สำหรับ โครงการ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในภาคเช้ามีผู้ลงทะเบียนและเข้าสู่กระบวนการแล้วกว่า 1,100 คน ซึ่งเป็นลูกหนี้ กยศ.ประมาณ 900 ราย และอีก 150 คน เป็นลูกหนี้สถาบันการเงิน โดยเฉพาะ ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดี อีกประมาณ 60 คน และยังมีลูกหนี้อีกจำนวนมากที่ อยู่ระหว่างลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการ

โดยหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินเยี่ยมพบปะกับลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ โดยได้พูดคุยกับลูกหนี้รายหนึ่ง ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารออมสินในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ จากมูลหนี้ทั้งหมดกว่า 1 ล้านบาท เหลือเพียงเงินต้น 400,000 บาทโดยลดดอกเบี้ยทั้งหมดให้ ซึ่งทำให้ลูกหนี้รายดังกล่าวดีใจมาก จากนั้นได้พบปะกับลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยเน้นย้ำว่า ขณะนี้รัฐบาลและกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้พยายามหามาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ดังนั้นลูกหนี้เอง ก็จะต้องมีความรับผิดชอบในการชำระหนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” มีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมงาน จำนวน 13 สถาบัน ได้แก่ 1. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 2. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 6. ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด 8. บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด 9. บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) 10. ธนาคารแห่งประเทศไทย 11. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย 12. สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจสตูล จำกัด 13. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มีลูกหนี้ก่อนฟ้องจำนวน 9,208 ราย ลูกหนี้หลังศาลมีคำพิพากษาจำนวน 1,595 ราย รวมลูกหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 10,803 ราย รวมทุนทรัพย์จำนวนกว่า 1,823 ล้านบาท

สำหรับงานมหกรรมฯ ในวันนี้ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ 1) การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย และการสร้างการตระหนักรู้ เกี่ยวกับ การวางแผน และสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน 2) การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายหรือการเงิน 3) การให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา

โดยงานมหกรรมฯ วันนี้สร้างความประทับใจและความเชื่อมั่นในกระบวนงานยุติธรม ให้กับผู้เข้าร่วม และประชาชน จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีกำหนดจัด “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถเข้าร่วมไกล่เกลี่ยแก้หนี้ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัด หรือสายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77