กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนคนไทยที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดโรคไข้มาลาเรีย ควรปรึกษาแพทย์คลินิกเวชศาสตร์ฯ ก่อนการเดินทาง ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาด หากเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแล้วสงสัยมีอาการป่วยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรณีที่พบผู้ป่วยสงสัย
วันที่ 17 สิงหาคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางไปยังประเทศในเขตที่มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย รวมถึงในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในกลุ่มดังกล่าว มีความเข้าใจและสามารถป้องกันตนเองจากโรคไข้มาลาเรียได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวคนไทยป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียหลังจากเดินทางไปสาธารณรัฐแอฟริกากลาง และมีรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่พบการระบาดโรคไข้มาลาเรียของสาธารณรัฐบุรุนดี ในทวีปแอฟริกา นั้น กรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังกองระบาดวิทยา กองโรคติดต่อทั่วไป และกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ให้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรียอย่างเข้มงวด เพิ่มศักยภาพโดยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยยาที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอาการแทรกซ้อนจากโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้เพิ่มการตรวจวัดไข้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงทุกราย ส่วนผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาด หากเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแล้วสงสัยมีอาการป่วยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
สำหรับประชาชนที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดโรคไข้มาลาเรีย ควรปรึกษาแพทย์คลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยว ก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและภัยอันตรายในประเทศนั้นๆ รวมถึงรับคำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคและภัยสุขภาพให้ถูกต้องและเหมาะสม และเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านร่างกาย อุปกรณ์ส่วนตัว และยารักษาโรค ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือภัยอันตรายลดน้อยลง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วประเทศ หรือที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โรคไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ส่วนใหญ่พบตามชายแดน ป่าเขา หากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อนหนาวและเหงื่อออก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติการไปพื้นที่เสี่ยงหรือเข้าไปในพื้นที่ป่าเขา หากเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคดังกล่าวต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้ สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ควรป้องกันตนเองจากยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุง เป็นต้น
ทั้งนี้ ขอให้โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้มาลาเรีย โดยขอให้แพทย์นึกถึงโรคนี้เมื่อมีผู้มารับบริการหรือประชาชนให้ประวัติไปในพื้นที่ที่มีระบาด ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรณีที่พบผู้ป่วยสงสัย และถ้าพบผู้ป่วยขอให้รีบรายงานมาที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ด้วย เพื่อให้ร่วมดำเนินการควบคุมโรคในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ไม่ให้โรคแพร่กระจาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อนำโดยแมลง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค