กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนโดยรอบโรงงานที่พบกากแคดเมียมและกากสังกะสี เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน ค้นหาผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพเพิ่มเติม พร้อมทั้งสื่อสารความเสี่ยง สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบโดยรอบพื้นที่
วันที่ 5 เมษายน 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตรวจสอบพร้อมเฝ้าระวัง และประเมินสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม กรณีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ขายกากแร่สังกะสี และกากแร่แคดเมียม ให้กับบริษัทในจังหวัดสมุทรสาคร โดยสารดังกล่าวถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ หากมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า ได้กำกับติดตามให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี และกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงพื้นที่เร่งค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบในบริเวณข้างเคียง ตรวจคัดกรองสุขภาพ และสุ่มตรวจหาสารแคดเมียมในปัสสาวะของประชาชนเพิ่มเติม นอกจากนั้นยังให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ และแนวทางปฏิบัติตัว พร้อมทั้งทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ประกาศห้าม มิให้บุคคลใดๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดๆ ในพื้นที่โรงงาน เป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรสาคร ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพพนักงานที่ทำงาน จำนวน 11 ราย แยกเป็น คนไทย 8 ราย ต่างด้าว 3 ราย ซึ่งได้มีการดำเนินการดังนี้ 1.ซักประวัติตามแบบฟอร์มการสัมผัสสารโลหะหนักแคดเมียม 2.ตรวจวัดสัญญาณชีพ เบื้องต้นไม่พบความผิดปกติ 3.เก็บปัสสาวะส่งตรวจหาสารแคดเมียมในปัสสาวะ ผลจะได้ภายในระยะ เวลา 1 สัปดาห์
นายแพทย์อภิชาต กล่าวต่อว่า สารแคดเมียม มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก และคอ นอกจากนี้ หลังจากการรับสัมผัสเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดพังผืดที่ปอด พิษต่อไต โรคกระดูก หรือที่รู้จักกันในโรคอิไต อิไต และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เบื้องต้น“กากแคดเมียม” ได้มีการจัดเก็บในสถานที่มิดชิด ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบแล้วพบว่ากากแคดเมียมและกากสังกะสีมีการผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% เพื่อทำลายฤทธิ์และอยู่ในสถานะแข็งตัว หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิดและหากไม่มีการชำระล้างจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ควรปฏิบัติตัวดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตพื้นที่โรงงาน 2.หากมีการสูดดมเข้าไป ให้รีบไปอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์ 3.หากเข้าตา รีบล้างด้วยน้ำสะอาดและพบจักษุแพทย์ 4.หากเผลอกลืนกิน รีบดื่มน้ำตามทันที อย่างน้อย 2 แก้ว และ 5. หากมีอาการผิดปกติ รีบปรึกษาแพทย์ทันที ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ เป็นระยะ อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม ที่มักฉวยโอกาสในการให้ข่าวที่ไม่เป็นความจริง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422