นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมคณะกรรมการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ ได้แก่ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส และคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯที่มี รมว.วธ.เป็นประธานกรรมการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการและกรรมการ ได้แก่ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและผู้แทนหน่วยงานต่างๆ20 หน่วยงาน อาทิ สำนักพระราชวัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งทุกหน่วยงานยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์อย่างเต็มที่และพร้อมอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยและการจราจร น้ำดื่มน้ำใช้ การจัดเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด รถพยาบาลพร้อมเจ้าหน้าที่พยาบาล รถสุขาเคลื่อนที่ และประชาสัมพันธ์การจัดงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ. ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรม จัดงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างวันที่ 19 – 25 เมษายน 2567 ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และบริเวณพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่งที่ได้ทรงนำพาประเทศชาติให้เจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคง ทรงทำนุบำรุงศาสนา สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบัน และเพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวจากมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้สู่ประชาชนและชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มีกิจกรรมประกอบด้วย 1.กิจกรรมด้านศาสนา ได้แก่ วันที่ 19 เมษายน 2567 พิธีบวงสรวงเทพยดา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครวันที่ 21 เมษายน 2567 พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชและพิธีตักบาตรพระสงฆ์99 รูป ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ศาลหลักเมือง ณ ศาลหลักเมือง
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า 2.งานมหกรรมวัฒนธรรมใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ มีกิจกรรม 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่แรกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ มีกิจกรรม ได้แก่ การแสดงนิทรรศการพระบรมฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี การแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในยามค่ำคืน (Night Museum) การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนพระรามราชสุริยวงศ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การบรรเลงและขับร้องดนตรีสากล การแสดงลิเก เรื่อง วีรบุรุษแห่งสยาม การแสดง “โนรามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” การแสดงลำตัด การขับร้องบทเพลง (ศิลปินอนันต์ ไมค์ทองคำ) การแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้ามหัศจรรย์ มนตรา มายากล จำอวดหน้าม่าน และทุกวันมีการบรรเลงดนตรีไทย ดนตรีสากล รวมทั้งจัดตลาดย้อนยุค กรุงรัตนโกสินทร์มีการสาธิตอาหารชาววังและอาหาร 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และตลาดอาหารไทย อาหารถิ่น ณ โรงละครแห่งชาติ นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ เช่น พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม พิพิธภัณฑ์ตำรวจ และวังปารุสกวัน พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ และมิวเซียมสยาม เป็นต้น
นายเสริมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนพื้นที่ที่สอง กิจกรรม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน มีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “กรุงเทพฯในความทรงจำ:พินิจวัด เวียง วัง ผ่านภาพถ่ายและภาพยนตร์” และ “ไม่บันทึก…ก็นึกไม่ออก” กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจากโลกเสมือนต่อยอดสู่โลกความจริง การแสดงดนตรีร่วมสมัย การแสดงมายากลร่วมสมัย นิทรรศการสงกรานต์และเทศกาลทางน้ำในอาเซียน และ 3.งานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพรย้อนวันวาน สารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน วันที่ 19 – 23 เมษายน 2567 ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพฯ มีกิจกรรมไหว้พระรับพร เสริมสิริมงคล การแสดงศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ปั่นจักรยานเที่ยววัดยามค่ำคืน” การประกวดอาหารสามศาสน์ การสาธิตภูมิปัญญาด้านอาหารและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765