“รมช.อนุชา” หนุนจัดทำมาตรฐานหนอนบีเอสเอฟ ลดต้นทุนอาหารสัตว์โปรตีนสูง ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม 134 – 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า มาตรฐานสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะต้องยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐานสากล และมีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง จะต้องมุ่งพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเดิม โดยยกระดับภาคเกษตรเข้าสู่การทำเกษตรมูลค่าสูง มุ่งสู่การเป็นครัวของโลก เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลิตผลทางการเกษตรได้มากขึ้น ราคาดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่เน้นย้ำเพิ่มรายได้เกษตรกรไทย 3 เท่าภายใน 4 ปี ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องร่วมกันผลักดัน ตลอดจนแนวคิด เงินบาทแรกของแผ่นดิน ที่ต้องการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งเป็นกำลังซื้อหลัก โดยการหนุนอาชีพเสริมให้ชาวนา ลดพื้นที่เพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด ให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องร่วมกันหาแนวคิดและต่อยอดต่อไป

สำหรับที่ประชุมในวันนี้ ได้เสนอประเด็นเพื่อพิจารณาที่สำคัญ คือ การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติการที่ดีสำหรับการผลิตหนอนบีเอสเอฟ เนื่องจากหนอนบีเอสเอฟ หรือ Black Soldier Fly (BSF) นอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีศักยภาพนำมาทดแทนโปรตีนในอาหารสัตว์ได้แล้ว ยังเลี้ยงง่าย ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ ไม่ค่อยมีศัตรูตามธรรมชาติ ขยายพันธุ์ได้ง่ายและเร็ว ในระยะที่เป็นตัวหนอนกินอาหารอินทรีย์วัตถุได้หลากหลาย มีประโยชน์ต่อกระบวนการย่อยสลายขยะอินทรีย์เป็นอย่างมาก มีคุณค่าทางอาหารสูงเหมาะแก่การนำมาใช้ในภาคปศุสัตว์สำหรับเป็นอาหารสัตว์ เกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้เกือบทุกชนิด ทั้งปลา ไก่ หมู เป็นต้น ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนและให้โปรตีนสูง

นายอนุชา เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ ยกเลิกมาตรฐานบังคับ เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด (มกษ. 2507-2559) และให้ประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปแทน และร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ดเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. 2560 พ.ศ. …. เนื่องจาก ปัจจุบันมีผู้ผลิตเชื้อเห็ดที่ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตประมาณ 60 ราย และผู้ประกอบการผลิตเชื้อเห็ด มีกลไกในการประกันคุณภาพในการซื้อขายเชื้อเห็ดที่มีความเชื่อมั่นต่อกัน จึงทำให้การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ดเป็นมาตรฐานบังคับ เป็นภาระที่เกินความจำเป็นต่อผู้ผลิตเชื้อเห็ด ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานได้ โดยเห็นควรให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พิจารณาแนวทางส่งเสริมการตรวจรับรอง เพื่อให้ผู้ผลิตเชื้อเห็ดที่ได้รับใบอนุญาตและใบรับรองให้ยังคงปฏิบัติตามมาตรฐานและได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง พิจารณาแนวทางให้ผู้ผลิตเชื้อเห็ดสามารถแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไปได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการค้า

นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 5 เรื่อง และประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ แบ่งเป็น มาตรฐานที่ทบทวน ได้แก่ 1. ทุเรียน (มกษ. 3-2556) 2. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกล้วยไม้ 3. การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ และมาตรฐานเพิ่มเติม ได้แก่ 1. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับงา และ 2. แนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร

ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 5 เรื่อง คือ 1. ทุเรียน (มกษ. 3-2556) (ทบทวน) เนื่องด้วยสถานการณ์การผลิตและการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และมีข้อมูลในเรื่องของน้ำหนักเนื้อแห้ง ขนาด และเกณฑ์คุณภาพของทุเรียนพันธุ์ทางการค้าจากการศึกษาวิจัยเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัย การปฏิบัติ และเกณฑ์กำหนดทางการค้าในปัจจุบัน เพื่อยกระดับคุณภาพทุเรียนของไทยให้มีศักยภาพทางการค้ามากขึ้นในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ เช่น เกณฑ์กำหนดน้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนที่แก่สำหรับแต่ละพันธุ์ และการแบ่งชั้นคุณภาพของทุเรียน

2. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับกล้วยไม้ (ทบทวน) โดยได้พิจารณาทบทวนมาตรฐาน GAP กล้วยไม้ตัดดอก เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติในปัจจุบัน และครอบคลุมการผลิตสินค้ากล้วยไม้ที่มีการจำหน่ายทั้งต้นกล้วยไม้ ดอกกล้วยไม้ และลำต้นกล้วยไม้ รวมถึงพิจารณาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติได้ เพื่อให้ได้กล้วยไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดศัตรูพืช โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน แต่มาตรฐานนี้ไม่รวมขั้นตอนการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ในสภาพปลอดเชื้อ

3. การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ (ทบทวน) โดยได้กำหนดการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่รับไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือไข่นกกระทา จากฟาร์มมารวบรวม และคัดคุณภาพไข่ เพื่อนำมาบรรจุและจำหน่ายในลักษณะไข่ทั้งฟอง (shell egg) ซึ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ครอบคลุมข้อกำหนด สถานประกอบการ การฝึกอบรมและความสามารถ การบำรุงรักษา ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ การควบคุมสัตว์พาหะนำเชื้อ สุขลักษณะส่วนบุคคล การควบคุมการปฏิบัติงาน การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับไข่ การขนส่ง และการบันทึกข้อมูลและเอกสารหลักฐานเพื่อการตามสอบ เพื่อให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารเหมาะสำหรับการบริโภค

4. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับงา เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในการงา เพราะงาเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ดังนั้น จึงสามารถนำไปส่งเสริมให้มีการผลิตในช่วงฤดูแล้ง เพื่อทดแทนการปลูกข้าวนาปรังได้ โดยมาตรฐานนี้ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับงา ในทุกขั้นตอนการจัดการกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว ระหว่างการเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงการขนย้าย การรวบรวม และการเก็บรักษา

5. แนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหาร โดยกำหนดขั้นตอนและวิธีการที่นำไปใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงของการดื้อยาต้านจุลชีพจากอาหารที่เกิดจากการใช้ยาต้านจุลชีพนอกเหนือจากการใช้ในมนุษย์ (Non-Humanuse) เช่น การใช้ยาทางการสัตวแพทย์ การอารักขาพืช โดยไม่รวมถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการตกค้างของยาต้านจุลชีพในอาหาร ยีนเครื่องหมายของการดื้อยา (AMR marker gene) ของพืชหรือจุลินทรีย์ตัดต่อดีเอ็นเอ จุลินทรีย์ที่ไม่ดัดแปรพันธุกรรม ที่ตั้งใจเติมในอาหารเพื่อวัตถุประสงค์ทางเทคนิค เช่น กล้าเชื้อ และส่วนประกอบอาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนยีนดื้อยา เช่น โพรไบโอติก ซึ่งหลักการทั่วไปสำหรับการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการดื้อยาต้านจุลชีพที่มาจากอาหารประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การประเมินความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยง และการสื่อสารความเสี่ยง