นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การขับขี่รถขณะเมาสุราเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก มีการพบปะสังสรรค์ งานเลี้ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการดื่มแล้วขับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิง ทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ และตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์ ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ โดยใช้วัสดุอ้างอิงรับรองและสารมาตรฐาน ซึ่งได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 หากพบว่า เครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดจะทำการปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐาน ในการดำเนินคดี ซึ่งเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจควรต้องผ่านการสอบเทียบ ตามรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยที่จะมีสติ๊กเกอร์ติดรับรองไว้ที่ตัวเครื่อง
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า ในกรณีผู้ขับขี่ที่รู้สึกตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ แต่บางรายอาจมีอาการบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าผ่านเครื่องวัดฯ ได้ จะทำการเจาะเลือดส่งตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือนำส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อทำการเจาะเลือดให้เร็วที่สุด (ระยะเวลามีผลต่อปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ลดต่ำลง) ซึ่งการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด เป็นวิธีการหนึ่งในการทดสอบว่าผู้ขับขี่เมาสุราหรือไม่ สถานพยาบาลและสถานีตำรวจสามารถส่งตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ที่ห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตัวอย่างที่เกิดเหตุและได้รับตัวอย่างระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 สามารถนำส่งตัวอย่างได้ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. และ รายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากได้รับตัวอย่าง
ทั้งนี้ จากข้อมูลผลการปฏิบัติงานการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา พบมีตัวอย่างส่งตรวจ 842 ตัวอย่าง เป็นเพศชาย 673 ราย เพศหญิง 167 ราย และไม่ระบุเพศ 2 ราย มีอายุระหว่าง 10-85 ปี พบผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ 129 ราย โดยพบว่าในช่วงอายุ 20-29 ปี ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด และช่วงอายุระหว่าง 30-59 ปี มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนดในอัตราที่สูงกว่าช่วงอายุอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่าพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง ตามลำดับ
“ด้วยความห่วงใย ขอฝากถึงประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด หรือเดินทางไปท่องเที่ยว ก่อนออกเดินทางให้เตรียมร่างกายให้พร้อม ขับขี่รถยนต์ คาดเข็มขัดนิรภัย ขี่จักรยานยนต์ สวมหมวกกันน็อค ทุกครั้ง หากเดินทางระยะทางไกล ควรมีผู้ผลัดเปลี่ยนช่วยขับรถ เมื่อรู้สึกง่วงอย่าฝืนขับรถต่อ ให้แวะพักตามจุดพักรถ ปั้มน้ำมัน หรือจอดรถนอนในจุดที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ขอให้ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” นายแพทย์ยงยศ กล่าว