วธ.จัดพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มุ่งเน้นเยาวชนเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นคนดีมีคุณธรรม

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 เวลา 13.00 น. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา พิธีถวายพระพรชัยมงคล และพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นาคสามเณร และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วม

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ จัดพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมและความเป็นไทย เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้ศึกษา ฝึกฝนอบรมหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะช่วยให้เกิดค่านิยมเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีวินัย จิตสาธารณะ มีความกตัญญู ส่งผลให้มีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพ

โดยในส่วนกลาง จัดพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2567 รวม 15 วัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นกุลบุตรที่สมัครเข้ารับการบรรพชา มีอายุระหว่าง 8-18 ปี จำนวน 99 คน จากนั้นจะมีการอบรมภาคทฤษฎี มีวิชาประกอบด้วย วิชาพุทธประวัติ วิชาธรรม – ศาสนพิธี วิชาเบญจศีล – เบญจธรรม วิชาพอเพียง และภาคปฏิบัติธรรม ทำวัตรสวดมนต์เช้า – เย็น ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน กิจวัตรบิณฑบาต กิจกรรมส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม กิจกรรมสนทนาธรรม และกิจกรรมฝึกเทศนาธรรม ระหว่างวันที่ 2 – 14 เมษายน 2567 ณ สำนักปฏิบัติธรรม “ธมฺมรํสี” สาขาวัดพระเชตุพน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และจะมีพิธีมอบวุฒิบัตรและพิธีลาสิกขา ในวันที่ 15 เมษายน 2567 ทั้งนี้ ยังมีการจัดพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณีในอีก 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเพณีงานเดือน 5, จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเพณีทำขวัญนาค และจังหวัดอุดรธานี ประเพณีแห่นาคม้าย่อง นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับคณะสงฆ์ จังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และสถานศึกษา รวมทั้งหน่วยงาน 72 จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการ โดยคาดว่าจะมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมทั่วประเทศรวมกว่า 10,000 คน เพื่อให้เยาวชนได้ร่วมพิธีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่มีความเหมาะสมกับวัย เพื่อพัฒนาสติปัญญาและนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้เป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมให้เป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป